dark mode light mode Search
Search

การแตกสลายคือหลักฐานของการมีชีวิต ตามรอยแนวคิด ‘วะบิ-ซะบิ (Wabi-Sabi)’ ที่แฝงในญี่ปุ่น!

โอบกอดความเปลี่ยนแปลงของตนเองและธรรมชาติไปพร้อมกับแนวคิดวะบิ-ซะบิที่สะท้อนผ่านวัฒนธรรม ศิลปะ และการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างการตกแต่งบ้าน การชงชา การแต่งกลอนและการซ่อมแซมแก้ไขความผิดพลาดแบบคินทสึงิ
Ancient Shrine in Kyoto

นอกจากธรรมชาติที่ตระการตาและสถาปัตยกรรมที่เล่าขานตำนานของประเทศญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดีแล้ว ปรัชญาและแนวคิดในการดำเนินชีวิตของคนญี่ปุ่นเองก็นับเป็นหนึ่งในเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากมายให้หลั่งไหลเข้าไปสัมผัสกลิ่นอาย “ความเป็นญี่ปุ่น” ด้วยตนเองเลยก็ว่าได้

หนึ่งในความเป็นญี่ปุ่นที่ทุกคนตกหลุมรักก็คือภาพลักษณ์ของความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค การไม่ยอมจำนนต่อความผิดหวังหรือความล้มเหลว ทัศนคติที่ยืดหยุ่นต่อความเปลี่ยนแปลง (Resilience) ของพวกเขาไม่เพียงจะถ่ายทอดผ่านการสั่งสอนด้วยวาจาเท่านั้น แต่มันยังหยั่งรากลึกไปถึงมุมมองความคิดต่อศิลปะและการดำเนินชีวิตประจำวันในนามแนวคิดวะบิ-ซะบิ (Wabi-Sabi) อีกด้วย

แนวคิดวะบิ-ซะบิ (Wabi-Sabi) คืออะไร

แนวคิดวะบิ-ซะบิ (Wabi-Sabi 侘寂) คือทรรศนะต่อความงามที่พูดถึงเสน่ห์ของความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต คำว่า ‘วะบิ’ (Wabi 侘) ปรากฏครั้งแรกช่วงศตวรรษที่ 15 ใช้อธิบายสุนทรียศาสตร์ของพิธีชงชาที่เรียกว่า ‘ซะโด’ (Sadou 茶道) 

ตามตำนานแล้ว พิธีชงชา ‘ซะโด’ ถือกำเนิดจาก ‘เซ็นโน ริคิว’ (Senno-Rikyu) พระสงฆ์นิกายเซ็น (Zen 神) ที่ ณ ตอนนั้นยังเยาว์วัยและกระตือรือร้นที่จะเข้าถึงเคล็ดลับการชงชา จึงฝากตัวเป็นศิษย์กับอาจารย์ชงชาชื่อดังคนหนึ่งนามว่า ‘ทาเคโนะ จู’ (Takeno Joo) โดยจะต้องดูแลทำความสะอาดสวนเป็นบททดสอบ

ทว่าบททดสอบนั้นเองก็ทำให้เซ็นโน ริคิวได้สังเกตเห็นความสวยงามของทิวทัศน์ยามดอกซากุระร่วงโรยจากต้นลงมาสู่พื้นสวนที่เขาทำความสะอาดจนไร้ที่ติ ความไม่สมบูรณ์ที่งดงามนั้นเองเป็นแรงบันดาลใจของแนวคิดวะบิ-ซะบิ (Wabi-Sabi) และพิธีกรรมชงชาแบบใหม่ที่เปลี่ยนจากการชื่นชมความสวยงามของความหรูหราโอ่อ่า มาเป็นพิธีชงชาที่เรียบง่าย ปราณีตอย่าง ‘ซะโด’ (Sadou) นั่นเอง

ขณะเดียวกัน หากย้อนกลับไปอีกหน่อยจะพบว่ามีการใช้คำว่า ‘วะบิ’ เพื่อสื่อความหมายถึงความโดดเดี่ยวหรือความเศร้าโศก สอดคล้อมกับปัจจุบันที่คำว่า ‘วะบิชี่’ (Wabishii 侘しい) แปลว่า ยากลำบาก โดดเดี่ยว

ฟังดูแล้วคำว่า ‘วะบิ’ อาจเป็นคำที่มีความหมายในแง่ลบ สำหรับหลายคนแล้วความยากลำบากและความโดดเดี่ยวอาจไม่ใช่ชีวิตในอุดมคติสักเท่าไรนัก แต่ความหมายที่แท้จริงของคำว่า ‘วะบิ’ ในปรัชญานี้คือการเพลิดเพลินไปกับความไม่ฟุ้งเฟ้อ การเรื่อยเปื่อยไปกับชีวิตสโลว์ไลฟ์ (Slow Life) ของบรรยากาศนอกเมือง หลีกหนีจากความเร่งรีบและวุ่นวายของเมืองใหญ่ กลับมาให้ความสำคัญกับตนเองและสิ่งรอบตัวอย่างตั้งใจ

ส่วนคำว่า ‘ซะบิ’ (Sabi 寂) เดิมทีปรากฏตามบทกวีในศตวรรษที่ 8 หมายถึง ความรกร้างว่างเปล่า เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 12 ก็ได้แปรเปลี่ยนความหมายเป็น ‘การพินิจพิเคราะห์สิ่งที่เก่าและกร่อนด้วยความเพลิดเพลิน’ นอกจากนั้นยังหมายถึงความเก่าที่สง่างามได้อีกด้วย กระทั่งปัจจุบันก็มีคำว่า ‘ซะบิชี่’ (Sabishii 寂しい) ที่แปลว่า เงียบเหงา โดดเดี่ยว

เช่นเดียวกัน ความโดดเดี่ยวและเงียบเหงาของ ‘ซะบิ’ แตกต่างจากความเศร้าและน้อยเนื้อต่ำใจที่ต้องอยู่คนเดียว ตรงกันข้าม ‘ซะบิ’ กลับสื่อถึงความสงบยามที่เฝ้ามองสิ่งรอบผัวแปรผันไปตามกาลเวลา เป็นความรู้สึกเวิ้งว้างแต่ก็ได้รับการเติมเต็มจากการยอมรับว่า “ทุกสิ่งเปลี่ยนไป” เป็นสัจธรรมของโลกที่ไม่มีอะไรคงทนถาวร รวมถึงตัวตนและความรู้สึกที่เกิดขึ้นด้วย

จะเห็นว่าปรัชญา ‘วะบิ-ซะบิ’ คล้ายจะเป็นห้วงความรู้สึกมากกว่าที่จะเป็นความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง คนญี่ปุ่นจึงมักแสดงออกถึงแนวคิด ‘วะบิ-ซะบิ’ ผ่านศิลปะการดำเนินชีวิตและสะท้อนแนวคิดดังกล่าวออกมาผ่านมุมมองต่อเรื่องราวในชีวิตมากมาย สำหรับนักท่องเที่ยวแล้วรายละเอียดเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนรสอูมามิที่ทำให้ประสบการณ์การท่องเที่ยวในญี่ปุ่นตราตรึงใจยิ่งขึ้น

วะบิ-ซะบิที่ซ่อนในวัฒนธรรมและชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น

อย่างที่กล่าวไปว่าแนวคิดวะบิ-ซะบิคือรากฐานการดำรงชีวิตของคนญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ ทว่ามันกลับซ่อนอยู่อย่างแนบเนียนเกินไปในบางครั้ง หลายคนจึงมักไม่สามารถสังเกตเห็นเงาสะท้อนเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน แต่หากได้มองเห็นมันสักครั้งก็คงจะไม่สามารถลืมเลือนได้อย่างแน่นอน

การตกแต่งบ้านและสวนตามแนวคิดวะบิ-ซะบิ

‘มินิมอล’ (Minimalism) เป็นสไตล์การตกแต่งบ้านที่เป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงหลายปีมานี้ ประโยคสุดฮิตอย่างคำว่า “น้อยแต่มาก” (Less is More) ได้รับการยอมรับว่าเป็นความสวยงามอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน หารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้วรสนิยมเหล่านั้นต่างมีรากฐานมาจากแนวคิดวะบิ-ซะบิด้วยเช่นกัน

เพราะทุกอย่างเป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน การประดับตกแต่งจึงมีจุดประสงค์เพื่อชีวิตที่สมถะ เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตประจำวันก็เพียงพอแล้ว กล่าวคือแก่นสำคัญของการตกแต่งสไตล์มินิมอลก็เพื่อสร้างชีวิตที่พร้อมโอบรับความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง

แนวคิดวะบิ-ซะบิที่แฝงในการตกแต่งบ้านไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น หากย้อนกลับไปก่อนเข้าศตวรรษที่ 21 ‘บอนไซ’ หรือเจ้าต้นไม้ที่เติบโตอย่างโดดเดี่ยวในกระถาง ก็เป็นค่านิยมการตกแต่งบ้านและสวนที่สะท้อนแนวคิดการเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติได้เป็นอย่างดี เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงว่าคนญี่ปุ่นได้เชื่อมโยงความเปลี่ยนแปลงกับความสวยงามไว้อย่างแนบแน่น

นอกจากต้นบอนไซที่มักจะมีคนพบเห็นตามกำแพงบ้านแล้ว การจัดสวนแบบเซน (Zen Garden) ที่แอบซ่อนอยู่ในวัดหรือศาลเจ้า รวมไปถึงคฤหาสน์ญี่ปุ่นโบราณก็สะท้อนให้ว่า การจัดสวนสำหรับคนญี่ปุ่นแล้วไม่ใช่เพื่อการโอ้อวดสถานะที่ฟุ้งเฟ้อ แต่เป็นการเฝ้ามองธรรมชาติจำลองเพื่อย้ำเตือนว่าความเปลี่ยนแปลงคือความจริงในทุกๆ วันนั่นเอง

องค์ประกอบของการจัดสวนแบบเซนยังแสดงให้เห็นถึงการเข้าใจความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งของแนวคิดวะบิ-ซะบิอีกด้วย ภายในสวนจะต้องประกอบไปด้วยส่วนที่เปลี่ยนแปลงและโรยราตามฤดูกาล เช่น มอส พุ่มไม้ กลีบดอกไม้สด ผสมผสานเข้าส่วนที่คงอยู่ยาวนานและเสื่อมสลายอย่างเชื่องช้า เช่น หินเก่า เป็นต้น

หากกลับเข้ามาสังเกตภายในตัวบ้าน หรือการตกแต่งในพิธีการต่างๆ สักหน่อยจะพบกับแจกันประดับด้วยดอกไม้สดราวกับวางลำดับมาเป็นอย่างดี ไม่มีดอกไหนที่จะเบียดหรือซ้อนจนทำให้ภาพรวมเสียสมดุล ภาษาญี่ปุ่นเรียกการจัดดอกไม้สไตล์นี้ว่า ‘อิเคบานะ’ (Ikebana) เป็นอีกศิลปะที่แสดงออกถึงชีวิตและการเฝ้ามองชีวิตโรยราไปตามกาลเวลา

คิดคำนึงและระลึกถึงผ่านชาและบทกวี

ส่วนมากแล้วจะสามารถชื่นชมการจัดดอกไม้สไตล์อิเคบานะได้ตามพิธีชงชา แม้ว่าจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันเล็กน้อยว่า ‘ฉะบานะ’ (Chabana) แต่ก็มีรากฐานมาจากศาสตร์ของอิเคบานะเช่นเดียวกัน พิธีชงชาหรือ ‘ซะโด’ (Sadou) เองก็เป็นการสะท้อนแนวคิดวะบิ-ซะบิที่ให้ความสำคัญกับการคิดคร่ำครวญถึงการเปลี่ยนแปลงเพื่อเน้นย้ำในตนเองจดจำสัจธรรมได้อยู่เสมอ

ไม่เพียงระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงผ่านการดื่มด่ำรสชาติชาเท่านั้น แนวคิดวะบิ-ซะบิยังสะท้อนออกมาผ่านการแต่งกลอนไฮกุ (Haiku) หรือรูปแบบบทกวีสั้นที่มีฉันทลักษณ์ตายตัว โดยส่วนมากแล้วจะมีเนื้อหาคร่ำครวญเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงรอบตัวและความรู้สึกที่ได้รับจากประสบการณ์นั้น เรียกได้ว่าราวกับเป็นพิธีกรรมมรณานุสติที่คนญี่ปุ่นสืบทอดมาตั้งแต่โบราณ

‘คินทสึงิ’ (Kintsugi) เพราะชีวิตคือศิลปะจากความผิดพลาด

หลังจากนั้นลองปรับเลนส์ให้มองใกล้เข้าไปถึงรายละเอียดมากกว่าเดิม ลึกลงไปยังลวดลายของภาชนะต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในการตกแต่งตามแนวคิดวะบิ-ซะบิและของใช้ในชีวิตประจำวัน เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยเห็นแตกันหรือถ้วยชาที่มีรูปร่างแสนนามธรรม เส้นสีทองไหลลื่นราวกับสายน้ำ และภาชนะแต่ละใบก็มีลวดลายที่ไม่ซ้ำกันเลย

เอกลักษณ์ของภาชนะเหล่านั้นสร้างสรรคืขึ้นมาจากการแตกสลายครั้งแล้วครั้งเล่า นับเป็นอีกหนึ่งศิลปะที่โอบกอดความเปลี่ยนแปลงที่มาในรูปแบบความผิดพลาด การเก็บเศษเสี้ยวที่แตกสลายขึ้นมาประกอบสร้างและเชื่อมด้วยยางไม้สีทองคือศิลปะแบบ “คินทสึงิ” (Kintsugi) กล่าวคือเป็นวิธีการซ่อมแซม ดูแลและถนุถนอมภาชนะที่บอบบบางราวกับเส้นชีวิตอย่างเครื่องปั้นดินเผาหรือเซรามิกนั่นเอง

ศิลปะการซ่อมแซมแบบคินทสึงิเป็นเครื่องเตือนใจเป็นอย่างดีว่าความผิดพลาดและการแตกสลายคือส่วนหนึ่งของชีวิต เพียงแค่เราเก็บเศษเสี้ยวการแตกสลาเหล่านั้นขึ้นมาประกอบใหม่และดำเนินชีวิตต่อไปก็สามารถสร้างศิลปะที่เต็มไปด้วยเอกลักษณืชิ้นใหม่ขึ้นมาบนโลกแล้วก็เป็นได้

จะเห็นว่า “ความเป็นญี่ปุ่น” แทรกซึมอยู่ในทุกๆ ด้านของชีวิตคนญี่ปุ่น สำหรับใครที่กำลังวางแผนไปเยี่ยมเยียนแดนปลาดิบแห่งนี้ และอยากลองสัมผัสกับบรรยากาศของแนวคิดวะบิ-ซะบิ (Wabi-Sabi) เพื่อดื่มด่ำกับความปราณีตสวยงามของความไม่สมบูรณ์แบบ พิธีชงชา ‘ซะโด’ (Sadou) และกิจกรรมการจัดดอกไม้สไตล์อิเคบานะ (Ikebana) ก็นับเป็นแผนการท่องเที่ยวที่ดีเลยทีเดียว


ที่มา

https://themomentum.co/wabi-sabi

https://japanobjects.com/features/wabi-sabi

https://theconversation.com/what-is-the-japanese-wabi-sabi-aesthetic-actually-about-miserable-tea-and-loneliness-for-starters-220026

https://positivepsychology.com/wabi-sabi-lifestyle

Total
0
Shares