สายใยระหว่างชาวญี่ปุ่นและอาหาร
หลายคนน่าจะเคยได้ยินจากในอนิเมะ ในฉากที่ตัวละครกำลังจะกินข้าว ทุกคนมักจะพูดคำว่า “อิทาดะคิมัส” ก่อนเสมอ และหลังกินข้าวเสร็จจะพูดว่า “โกะจิโซซามะ” วลีเหล่านี้มีความหมายและมีที่มาอย่างไร
วลีเหล่านี้ถูกใช้เพื่อแสดงความขอบคุณกับอาหารและผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาหารจานนี้ คนญี่ปุ่นเชื่อว่าทุกอย่างมีจิตวิญญาณ เมื่อพืชผักและสัตว์ต่าง ๆ ถูกนำมาทำเป็นอาหารให้เราได้กินและดำรงชีพ เราก็ต้องแสดงความขอบคุณกับจิตวิญญาณเหล่านั้น
เรามักจะเห็นได้ว่าคนญี่ปุ่นแทบจะไม่กินเหลือเลย ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องกินทุกอย่างที่เสิร์ฟมาให้หมดเพื่อเแสดงความเคารพกับทุกจิตวิญญาณที่เสียสละมาเป็นอาหาร คนญี่ปุ่นรักและเคารพอาหารจนมีเทศกาลมากมายที่เกี่ยวข้องกับอาหาร พืชผักผลไม้ และวันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับหนึ่งในเทศกาลที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเทศกาลที่เกี่ยวกับข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวญี่ปุ่น จึงเป็นเทศกาลสำคัญที่จัดต่อเนื่องกันมานานนับหลักพันปี
รู้จักกับหนึ่งในเทศกาลเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น
มีเรื่องเล่าของศาสนาชินโตที่ว่า สายใยของชาวญี่ปุ่นและข้าวนั้นเกิดขึ้นเมื่อเทพีอามาเทราสุ หรือเทพีแห่งดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นเทพีองค์สำคัญที่สุดในทางศาสนาชินโตได้มอบต้นข้าวให้กับชาวญี่ปุ่น ให้ต้นข้าวได้เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างสวรรค์และโลกมนุษย์ ข้าวจึงไม่ได้เป็นแค่อาหารหลักเท่านั้น แต่เป็นทั้งสิ่งศักดิ์สิทธ์ วัฒนธรรมที่สำคัญ และเครื่องหมายของความอุดมสมบูรณ์ของญี่ปุ่น
นิอินาเมะไซ (新嘗祭) เป็นหนึ่งในเทศกาลที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น จากที่ถูกกล่าวถึงนิฮงโชกิ หรือบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่น คาดเดาว่านิอินาเมะไซนั้นเริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 และยังมีมาถึงปัจจุบันนี้ นิอินาเมะไซเป็นเทศกาลของทางศาสนาชินโตที่จะจัดขึ้นในช่วงเก็บเกี่ยวพืชผลก่อนเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง เพื่อมอบข้าวใหม่ที่เพิ่งถูกเก็บเกี่ยวให้กับเทพเจ้า เป็นการตอบแทนที่เทพเจ้าบันดาลให้พืชผลของพวกเขางอกงาม
จากพิธีกรรมทางศาสนา สู่วันขอบคุณแรงงาน
นิอินาเมะไซจะจัดขึ้นในวันที่ 23 พฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งตามปฏิทินเป็นวันขอบคุณแรงงานของชาวญี่ปุ่นด้วย แต่เดิมนิอินาเมะไซจะจัดขึ้นตามปฏิทินจันทรคติ แต่ในยุคเมจิก็มีการปฏิทินสุริยคติหรือปฏิทินแบบที่เราใช้กันในปัจจุบันมาใช้ ทำให้วันที่ 23 พฤศจิกายนถูกตั้งเป็นวันจัดพิธีนิอินาเมะไซแบบล็อคตรงเป๊ะทุกปี
แต่หลังจากการปฏิรูปหลังสงคราม การแยกศาสนาออกจากรัฐก็เป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมาย จึงเกิดการเปลี่ยนชื่อวันเทศกาลนิอินาเมะไซที่มีไว้ขอบคุณเทพเจ้าและชาวไร่ชาวนาให้กลายเป็นวันขอบคุณแรงงาน เพื่อระลึกถึงผู้ใช้แรงงานทั้งหมด ไม่ใช่แค่ชาวไร่ชาวนาเพียงกลุ่มเดียว แต่รวมไปถึงผู้ผลิตสรรพสิ่งทั้งมวล ทั้งของกินและของใช้ ทำให้วันขอบคุณแรงงานเป็นวันหยุดประจำชาติที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุด
แม้จะเปลี่ยนชื่อกลายเป็นวันขอบคุณแรงงานแล้ว แต่พิธีนิอินาเมะไซก็ไม่ได้หายไปไหน โดยพิธีหลักจะถูกจัดขึ้นในพระราชวัง โดยจักรพรรดิจะเป็นผู้มอบข้าวใหม่และพืชผลให้กับเทพเจ้าในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณที่เชื่อมระหว่างเทพเจ้าและมนุษย์ เมื่อมอบข้าวใหม่และพืชผลเรียบร้อยแล้ว ก็จะเป็นมื้ออาหารของจักรพรรดิและเทพเจ้า ซึ่งเป็นพิธีที่เชื่อกันมาแต่โบราณว่าเป็นการรับพลังจากเหล่าเทพเจ้า
นอกจากนี้ยังมี ไดโจไซ พิธีที่คล้ายกับนิอินาเมะไซ แต่จะจัดขึ้นเพียงครั้งเดียวในหนึ่งรัชสมัย เมื่อรัชทายาทขึ้นสืบทอดบัลลังก์ ไดโจไซจะถูกจัดขึ้นแบบยิ่งใหญ่กว่านิอินาเมะไซ ซึ่งข้าวใหม่สำหรับมอบให้กับเทพเจ้าในพิธีนี้จะถูกคัดเลือกอย่างเข้มงวด จะมีข้าวสองชนิดที่ถูกมอบ นั่นก็คือข้าวที่มาจากฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่น และข้าวที่มาจากฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น ซึ่งพิธีไดโจไซครั้งล่าสุดที่จัดขึ้นตอนเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเรวะนั้นได้ข้าวจากเกียวโตเป็นข้าวจากฝั่งตะวันตก และข้าวจากโทชิกิเป็นข้าวจากฝั่งตะวันออก
คนทั่วไปก็ร่วมเทศกาลนิอินาเมะไซได้
นอกจากพระราชวังแล้ว ศาลเจ้าต่าง ๆ ทั่วประเทศก็มีการทำพิธีด้วยเช่นกัน แต่ศาลเจ้าที่ทุกคนรู้จักกันดีในเรื่องของเทศกาลนิอินาเมะไซคือศาลเจ้าอิเสะจิงกู ซึ่งในวันที่ 23 พฤศจิกายนของทุกปีจะมีคนมากมายไปร่วมชมพิธีการอันศักดิ์สิทธ์นี้ โดยพิธีจะนำโดยนักบวชที่นำข้าวและพืชผลใส่กล่อง เดินขบวนเพื่อนำไปถวายกับเทพเจ้า และมีการร่ายรำแบบโบราณ
ยังมีความเชื่อเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าเราไม่ควรกินข้าวใหม่ก่อนจะผ่านวันนิอินาเมะไซ เพราะผู้ที่จะได้กินข้าวใหม่ก่อนใครจะต้องเป็นเทพเจ้าและจักรพรรดิเท่านั้น ดังนั้นการกินข้าวใหม่ก่อนจะถึงช่วงเวลานั้นนับเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ที่จริงแล้วมาจากสมัยก่อนเทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวข้าวยังไม่ก้าวหน้า หลังจากการเกี่ยวข้าว ข้าวต้องผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ มากมาย ซึ่งสมัยก่อนใช้แรงงานคนทั้งหมดเลยใช้เวลานานกว่าสมัยนี้ กว่าข้าวใหม่ที่เกี่ยวมาจะพร้อมหุงกินได้ก็ผ่านช่วงนิอินาเมะไซไปแล้วพอดี
แต่ยุคสมัยผ่านไป เทคโนโลยีการเกษตรก้าวหน้ามากขึ้น กรรมวิธีต่าง ๆ ในการเตรียมข้าวก็รวดเร็วขึ้น ทำให้เรามีข้าวใหม่กินกันตั้งแต่ช่วงกันยายน ร้านรวงต่าง ๆ เริ่มเอาข้าวใหม่มาวางขายก่อนจะถึงช่วงนิอินาเมะไซเสียอีก การกินข้าวใหม่ก่อนถึงช่วงนิอินาเมะไซจึงค่อย ๆ กลายเป็นเรื่องปกติไป แต่ก็ยังมีบางครอบครัวและนักบวชชินโตที่ยังยึดถือความเชื่อนี้อย่างเคร่งครัด
อ้างอิง