ชาเขียว (Green Tea) หรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “เรียวกูฉะ (緑茶/ Ryokucha)” นั้นไม่เพียงแต่กำลังเป็นเครื่องดื่มกระแสนิยมที่ฮิตไปทั่วโลกเท่านั้นทว่าประโยชน์ของมันยังมากมายอีกด้วย แล้วยิ่งยุคนี้เทรนด์ของ “มัทฉะ (抹茶/Matcha)” กำลังมาแรงขึ้นเรื่อยประกอบการถูกจัดให้ไปอยู่ในเทรนด์ Superfood แล้วด้วยก็ยิ่งทำให้คนทั่วโลกหันมาบริโภคเมนูนี้กันมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ถึงอย่างนั้นอาหารทุกอย่างมีทั้งคุณและโทษในตัว ชาเขียวก็เช่นกันเพราะนอกจากคุณประโยชน์จะเหลือล้นแล้วก็ยังมีผลเสียต่อร่างกายแฝงอยู่ด้วยเช่นกัน วันนี้เราจึงอยากชวนทุกคนมาเสริมเติมความรู้ถึงการบริโภคชาเขียวให้ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ตลอดจนควบคุมและระมัดระวังการดื่มเพื่อลดความเสี่ยงต่อผลเสียให้ได้มากที่สุด ว่าแล้วก็มาจิบชาเพื่อสุขภาพและบริโภคชาเขียวให้เป็นประโยชน์ต่อร่างกายกันดีกว่า
Superfood Trend!

มัทฉะกำลังเป็นหนึ่งในซูเปอร์ฟู้ดเทรนด์ที่มาแรงทั่วโลกเพราะนอกจากมีคุณประโยชน์มากมายแล้วก็ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงด้วย โดยปกติแล้วในชาเขียวจะมีสารอาหารและองค์ประกอบสำคัญมากมาย ตั้งแต่ กรดอะมิโน วิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี สารในกลุ่มแซนทีนอัลคาลอยด์ (Xanthine Alkaloids) คือ คาเฟอีน (caffeine) และ ธิโอฟิลลีน (theophylline) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง



นอกจากนี้ยังมีสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่เรียกว่า คาเทชิน (catechins) หลากหลายชนิด โดยเฉพาะ อีพิกัลโลคาเทชินกัลป์เลต (Epigallocatechin Gallate) หรือ EGCG ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบได้ดี แล้วสำหรับมัทฉะนั้นพบว่ามีคาเทชินสูงกว่าชาเขียวปกติถึงกว่า 137 เท่าเลยทีเดียว นั่นจึงทำให้มัทฉะกลายเป็นซูเปอร์ฟู้ดที่คนทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
ผลดีและผลเสียจากการดื่มชาเขียว

ผลดี (ประโยชน์)
ช่วยดับกระหายและทำให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า: ในชาเขียวมีคาเฟอีน (Caffeine) และธิโอฟิลลีน (Theophylline) อันเป็นสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางเพื่อทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าขึ้นได้ แก้อาการง่วงนอน ทั้งยังช่วยกระตุ้นสมอง ทำให้มีสมาธิยิ่งขึ้น
ช่อยให้ผ่อนคลาย: ขณะเดียวกันชาเขียวก็มีกรดอะมิโนแอลธีอะนีน (Amino acid L-theanine) ช่วยเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทกาบา (GABA) เพื่อรักษาความสมดุลของระบบสื่อประสาทให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงมีสารที่มีกลิ่นหอมทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด อารมณ์ดี และนอนหลับได้สนิท
ช่วยระบบเผาผลาญและการดูดซึม: ในชาเขียวมีสารช่วยกระตุ้นให้เกิดการเผาผลาญอาหารและไขมันได้ดี ส่งผลต่อการควบคุมน้ำหนักได้ดีเช่นกัน ตลอดจนช่วยเพิ่มแบคทีเรียดีให้กับลำไส้ ทั้งยังช่วยล้างพิษ กระตุ้นการย่อยอาหารให้ดียิ่งขึ้น และทำให้ระบบขับถ่ายดี ถ่ายสะดวก รวมถึงมีคุณสมบัติช่วยลดคอเลสเตอรอลไม่ดีได้อย่าง LDL (Low-density lipoprotein) ซึ่งเป็นไขมันเลวที่อาจก่อให้เกิดโรคหัวใจ ทว่าอีกด้านกลับช่วยเพิ่ม HDL (High-density lipoprotein) ซึ่งเป็นไขมันชนิดดีในร่างกาย ทั้งยังมีสารประกอบที่ช่วยป้องกันการดูดซึมของคอเลสเตอรอลในระบบทางเดินอาหารด้วย
ช่วยควบคุมระบบน้ำตาล: ชาเขียวมีสารแคทีซิน (Catechins) ที่ช่วยจำกัดการทำงานของเอนไซม์บางชนิดเพื่อลดการดูดซึมน้ำตาลกูโคสได้ทำให้น้ำตาลในเลือดไม่สูงขึ้น ทั้งยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้สูงเกินไปสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ช่วยควบคุมความดันและลดน้ำหนักได้ดี: สาร EGCG ย่อมาจากคำว่า “Epigallocatechin gallate” เป็นสารกลุ่มคาเทชิน (Catechins) หลักที่พบได้มากในชาเขียว โดยสาร EGCG นี้จัดเป็นสารสำคัญที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลากหลายด้าน เช่น ต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ เป็นต้น ทั้งยังช่วยกำจัดคอเลสเตอรอลในหลอดเลือดได้ดีจึงส่งผลให้ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงจากหลอดเลือดอุดตันได้ ตลอดจนช่วยลดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงช่วยในการป้องกันและชะลอการเกิดโรคเบาหวานได้ รวมถึงช่วยควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี อีกทั้งสารไทอะนีน (Theanine) เป็นกรดอะมิโนที่ทำให้ชาเขียวมีรสกลมกล่อม สามารถช่วยควบคุมการทำงานของสมองและลดความดันโลหิตได้ด้วย
ดีต่อสุขภาพช่องปาก: ชาเขียวมีสารโพลิฟีนอลและแคททีซินที่ช่วยกำจัดแบคทีเรียเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดฝันผุได้ ทั้งยังช่วยลดกลิ่นปากและป้องกันการเกิดโรคเหงือกได้ดี ช่วยให้สุขภาพในช่องปากของเราดีขึ้น อีกทั้งการดื่มชาเขียววันละหนึ่งถึงสองแก้วอาจช่วยลดการเกิดคราบพลัค (Plaque) ได้ดี นอกจากสุขภาพในช่องปากแล้วหมากมีปัญหาเหล่านี้ยังอาจเชื่อมโยงไปถึงเรื่องโรคทางระบบประสาทที่มีผลต่อการเกิดโรคร้ายแรงอย่าง อัลไซเมอร์ และ พาร์กินสัน ได้ด้วย
ชะลอวัย: ในชาเขียวมีสาร Epigallocatechin Gallate (EGCG) พบได้มากในชาเขียว มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและช่วยในการขับสารพิษในร่างกายทำให้ช่วยกวาดล้างอนุมูลอิสระที่เป็นตัวกัดกร่อน DNA ในกระแสเลือดลงได้ ตลอดจนช่วยป้องกันความเสื่อมของเซลล์และอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายได้ดี นอกจากนี้สารต้านอนุมูลอิสระในชาเขียวอย่างโพลีฟีนอล (Polyphenols) ยังช่วยชะลอวัยและคงความอ่อนเยาว์ไว้ได้ดีและเหนือกว่าอาหารอื่นๆ อีกด้วย
ดีต่อมวลกระดูกและการอักเสบของร่างกาย: ชาเขียวอุดมไปด้วยธาตุฟลูออไรด์ซึ่งเป็นหนึ่งในสารอาหารที่จำเป็นสำหรับเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก ทั้งยังช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก รวมถึงต่อต้านการอักเสบในร่างกายได้ดีด้วย
ลดความเสี่ยงมะเร็งได้: ชาเขียวมีสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ที่มีส่วนในการลดความเจริญเติบโตของเนื้องอกได้ ทำให้ลดความเสี่ยงต่อมะเร็งได้หลายชนิด อาทิ มะเร็งกระเพาะอาหาร, มะเร็งหลอดอาหาร, มะเร็งเต้านม, มะเร็งปอด, มะเร็งผิวหนัง, มะเร็งรังไข่, มะเร็งต่อมลูกหมาก, รวมทั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นต้น
ผลเสีย (โทษ)
หัวใจเต้นเร็วและนอนไม่หลับ: เนื่องจากชาเขียวมีสารคาเฟอีนอยู่หากดื่มปริมาณมากเกินไปอาจทำให้ร่างกายตื่นตัวตลอดเวลาจนทำให้นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว หรืออาจคลื่นไส้ได้ ฉะนั้นผู้ป่วยโรคหัวใจควรระมัดระวังในการดื่ม
ท้องผูก: ในชาเขียวมีสารแทนนิน (Tannin) ซึ่งมีฤทธิ์ฝาดสมานและเป็นสารที่ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย จึงมีความเป็นไปได้ว่าหากดื่มชาเขียวในปริมาณที่มากเกินไปก็สามารถทำให้ท้องผูกได้
เป็นโทษสำหรับผู้แพ้คาเฟอีน: สำหรับผู้ที่แพ้คาเฟอีนก็อาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ตามระดับอาการแพ้ของแต่ละคน
ไม่เหมาะสำหรับสตรีกำลังตั้งครรภ์: เนื่องจากมีคาเฟอีนอยู่จึงอาจส่งผลอันตรายต่อเด็กในท้องได้ หรืออาจส่งผลต่อภาวะแท้งบุตรได้เช่นกัน
ผู้ป่วยที่รับประทานยาวาร์ฟารินควรระมัดระวัง: ในชาเขียวจะมีวิตามินเคที่ทำลายลิ่มเลือดของยานี้ อาจส่งผลทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดตามอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง หรือ หัวใจ ได้
อาจทำให้เกิดโรคโลหิตจาง: ในชาเขียวมีสารแทนนิน (Tannin) อาจทำให้เกิดการยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กในร่างกายได้ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะการขาดธาตุเหล็กแลก่อให้เกิดโรคโลหิตจางตามมา หากดื่มปริมาณที่ไม่เหมาะสม
โรคกระดูกและข้อ: อย่างที่ทราบกันว่าในชาเขียวมีสารฟลูออไรด์ (ค่อนข้างสูง) การบริโภคแต่พอเหมาะจะเป็นประโยชน์แต่หากบริโภคมากเกินไปก็จะอาจสะสมจนส่งผลให้เกิดไตวาย มะเร็งลำไส้ได้ รวมถึงโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน
ผู้ที่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนดื่ม: สำหรับที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต ไฮเปอร์ไทรอยด์ ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับ ผู้ที่มีเลือดออกผิดปกติหรือมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ผู้ป่วยที่กำลังรับประทานยาละลายลิ่มเลือด สตรีมีครรภ์ กระเพาะอาหารอักเสบ วิตกจริต ตลอดจนมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้คำแนะนำในการดื่ม (หรือห้ามดื่ม) ก่อน

คุณประโยชน์ในชาเขียวนั้นมีมากมาย อย่างไรก็ดีควรดื่มในปริมาณเหมาะสมเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด
ข้อแนะนำในการดื่มชาเขียว

- ควรบริโภคชาเขียวสูตรร้อนที่ชงใหม่ๆ จะดีที่สุด เพราะจะได้สารอาหารครบถ้วนโดยตรง รับรสและกลิ่นได้ดี รวมถึงไม่สูญเสียคุณค่าและคุณประโยชน์ของอาหารด้วย
- ไม่ควรดื่มมากเกินไป แนะนำให้ดื่มปริมาณ 4-5 ถ้วยกาแฟ/วัน กำลังดี ถ้ามากกว่านั้นอาจได้รับปริมาณคาเฟอีนที่มากจนเกินไป / หรือหากเป็นมัทฉะ (ที่เข้มข้นกว่า) แนะนำให้ดื่มปริมาณ 1-2 ถ้วยกาแฟ/วัน ก็เพียงพอ
- ควรดื่มชาเขียวระหว่างรับประทานอาหารหรือหลังการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อจะดีต่อร่างกายมากที่สุด
- เลี่ยงการดื่มชาเขียวสูตรเย็นบรรจุขวด เพราะประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการไม่มากและไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับชาสูตรร้อนที่ชงสดใหม่ แต่หากต้องการดื่มควรดูส่วนผสมให้ละเอียด ควรเลือกสูตรรสดั้งเดิมที่ไม่มีการเติมน้ำตาล หรือหากเติมน้ำตาลก็แนะนำสูตรหวานน้อย เพราะสูตรปกติส่วนใหญ่จะเติมน้ำตาลในปริมาณสูงเพื่อให้ดื่มง่ายและมีรสอร่อย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขมากมากกว่า
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
https://www.kcinterfoods.co.th/types-of-tea
https://medthai.com/%e0%b8%8a%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%82%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a7