สาวกญี่ปุ่นต้องรู้จัก! ‘เกอิชา’ มรดกทางวัฒนธรรมที่ยังมีชีวิตและสืบสานนิยามความงามฉบับญี่ปุ่นดั้งเดิมมาจนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าใครที่มีแผนท่องเที่ยวจังหวัดเกียวโตย่อมไม่พลาดที่จะตามรอยย่านเกอิชา จิบน้ำชา ร่วมสนุกกับการละเล่นโบราณของญี่ปุ่นอย่างแน่นอน
ทว่าสาวงามแห่งเกียวโตไม่ได้มีเพียง ‘เกอิชา’ เพียงเท่านั้น ท่ามกลางสเน่ห์สุดขลังและความสง่างามแบบผู้ใหญ่ของเมืองเก่า ยังคงมีกลุ่มเด็กสาวที่คอยมอบความสดใสและฝึกฝันอย่างเต็มที่เพื่อจะสืบทอดวิถีความงามฉบับเกียวโตต่อไป อีกหนึ่งสาวงามที่พร้อมจะทำให้ผู้พบเห็นตกหลุมรักเหล่านี้มีชื่อว่า ‘ไมโกะ’ นั่นเอง
เกอิชาและไมโกะต่างกันอย่างไร? ถ้าอยากเจอสาวงามเมืองเกียวโตสักครั้งต้องไปที่ไหน? ก่อนจะไปเจอตัวจริงสักครั้งในชีวิตลองมาทำความรู้จักพวกเธอและวิธีปฏิบัติกับเกอิชาและไมโกะอย่างถูกต้องไปพร้อมกันเลย!
รู้จักเกอิชาและไมโกะ ตัวแทนสาวงามฉบับเกียวโต
เกอิชาคืออะไร?
เกอิชา (Geisha) คืออาชีพหนึ่งของที่สงวนไว้สำหรับหญิงสาวชาวญี่ปุ่นนับตั้งแต่โบราณกาล ตามความหมายของคันจิหรือตัวอักษรจีนของคำว่าเกอิชานั้นหมายถึง ‘ผู้แสดงศิลปะ’ หรือ ‘ผู้มีศิลปะ’ โดยแต่ละภูมิภาคจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป ทางภูมิภาคตันโตจะเรียกว่า ‘เกอิชา’ อย่างที่หลายคนคุ้นชินกัน ขณะที่แถบคันไซจะเรียกว่า ‘เกอิโกะ’ (Geiko) แทน
หญิงสาวที่จะเป็นเกอิชาได้นั้นจะต้องมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และผ่านการฝึกฝนการแสดงศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง เล่นดนตรี เต้นรำ ชงชา ไปจนถึงการละเล่นเพื่อสร้างความบันเทิงต้อนรับแขกผู้มาพักผ่อนหย่อนใจ
ไมโกะคืออะไร?
ไมโกะ (Maiko) คือคำเรียกเด็กสาวช่วงวัย 15-20 ปีที่กำลังเรียนรู้และฝึกฝนการแสดงศิลปะแขนงต่างๆ เพื่อเตรียมตัวเติบโตเป็นเกอิชาในอนาคต เปรียบเทียบได้กับเด็กฝึกงานที่มีหน้าที่สร้างความบันเทิงให้กับแขกผู้มาเยือนเช่นเดียวกัน โดยภูมิภาคคันโตจะเรียกเด็กฝึกหัดเหล่านี้ว่า ‘ฮังทามะ’ (Hantama) มาจากคำว่า ‘ฮัง’ ที่แปลว่าครึ่งส่วน และ ‘ทามะ’ ที่หมายถึงเงินเดือนของเกอิชา และแถบคันไซจะเรียกว่า ‘ไมโกะ’ แบบที่แพร่หลายกันในปัจจุบัน
เกอิชา ศูนย์กลางประวัติศาสตร์ความบันเทิงของญี่ปุ่น
ความรุ่งเรืองทางศิลปะของญี่ปุ่นยุคเฮอัน
ศิลปะการร่ายรำของญี่ปุ่นดั้งเดิมนั้นผ่านการแลกเปลี่ยนและสืบทอดทางวัฒนธรรมมาจากแถบจีนและเกาหลีตั้งแต่ยุคสมัยนาระหรือราวศตวรรษที่ 8 กระทั่งกลายมาเป็นความบันเทิงที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงและราชสำนักช่วงยุคเฮอันหรือราวศตวรรษที่ 9-12
นอกจากศิลปะการร่ายรำแล้ว ศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น การเขียนและขับร้องบทกวี การเล่นดนตรี และอีกมากมาย ต่างก็เป็นกิจกรรมที่นิยมฝึกฝนเรียนรู้ในหมู่ชนชั้นสูง เรียกได้ว่าทักษะทางศิลปะเป็นเครื่องหมายแสดงสถานะทางสังคมเลยก็ว่าได้
ในสมัยนั้น ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้แสดงศิลปะเพื่อมอบความบันเทิงแก่ชนชั้นสูงและราชสำนัก รวมไปถึงการแสดงศิลปะเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาตามศาลเจ้าต่างๆ ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ระบำคางุระ (Kagura) หรือการร้องเพลงและร่ายรำบูชาเทพเจ้า เป็นต้น
ความรุ่งเรืองของศิลปะแขนงต่างๆ ในยุคเฮอันเป็นรากฐานสำคัญที่พัฒนากลายมาเป็นแบบแผนของอาชีพ ‘เกอิชา’ และสืบทอดแบบแผนนั้นมาจนถึงปัจจุบัน เช่นนั้นเอง เกอิชาจึงถูกเรียกว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีชีวิตอยู่ ผู้สืบทอดวัฒนธรรมของญี่ปุ่นยุคเออันมาเป็นพันปีนั่นเอง
การถือกำเนิด ‘ย่านเริงรมย์’ ในยุคเอโดะ
ช่วงยุคสมัยเอโดะหรือราวศตวรรษที่ 17-19 ‘ยูคาคุ’ (Yuukaku) ที่คนไทยมักเรียกกันว่าย่านเริงรมย์หรือย่านโคมแดง หรือก็คือบริเวณที่รัฐบาลอนุญาตให้มีการค้าประเวณีได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับอาชีพที่เรียกว่า ‘โออิรัน’ (Oiran) หรือโสเภณีชั้นสูงนั่นเอง
แม้ว่าโออิรันจะมีการแสดงศิลปะและมอบความบันเทิงเช่นเดียวกับเกอิชาและไมโกะ แต่เกอิชาและไม่มีการขายเรือนร่างเช่นเดียวกับพี่สาวย่านโคมแดง ถึงอย่างนั้น ย่านเริงรมย์และโออิรันก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกอิชาและไมโกะกลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย
คล้ายคลึงกับย่านโคมแดงอันเป็นถิ่นของโออิรัน เกอิชาและไมโกะก็มีการก่อตั้งพื้นที่ที่เรียกว่า ‘ฮานะมาจิ’ (Hanamachi) หรือ ‘เมืองดอกไม้’ เพื่อรับรองแขกและฝึกฝันทักษะการแสดงศิลปะ โดยส่วนมากแล้วจะเป็นย่านที่มีชื่อเสียงอย่าง ‘กิอง’ (Gion) ประจำเกียวโต ‘ชินมาจิ’ (Shinmachi) ประจำโอซาก้า ‘โยชิวาระ’ (Yoshiwara) ประจำโตเกียว เป็นต้น แน่นอนว่าเมื่อผู้คนมารวมตัวกันมากมาย สถานที่เหล่านี้จึงกลายเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนทั้งวัฒนะรรม ความคิด ไปจนถึงข้อมูลด้วยเช่นกัน
วิธีแยกความแตกต่างของเกอิชาและไมโกะ
เครื่องแต่งกาย
ปัจจุบัน กิโมโนเป็นเสมือนชุดเครื่องแบบของเกอิชาและไมโกะ แต่เราสามารถแยกเกอิชากับไมโกะได้ด้วยสีของกิโมโน โดยกิโมโนของเกอิชาจะมีสีเข้ม เช่น สีดำหรือสีน้ำเงิน เพื่อสแดงความสุภาพและสุขุม พร้อมกับรัดสายโอบิแบบเก็บรวมตามวิธีการแต่งกายธรรมดา
ขณะที่ไมโกะจะสวมกิโมโนสีสันสดใส เช่น สีแดง สีส้ม สีชมพู สีเหลือง และผูกโอบิหรือผ้าคาดเอวแบบปล่อยยาวไว้ด้านหลัง ซึ่งรูปแบบและลวดลายดอกไม้บนกิโมโนของเกอิชาและไมโกะจะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลด้วยเช่นกัน
ทรงผมและเครื่องประดับ
ความแตกต่างสำคัญของทรงผมเกอิชาและทรงผมไมโกะคือ เกอิชาจะสวมวิกผมขณะที่ไมโกะแต่งทรงผมด้วยผมจริงของตนเอง นอกจากนี้ทรงผมของไมโกะยังเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลาการฝึกฝนอีกด้วย เช่น ช่วงแรกจะเป็นทรง ‘วาเระชิโนบุ’ (Wareshinobu) หลังจากนั้นสองถึงสามปีจึงจะเปลี่ยนเป็น ‘โอฟุคุ’ (Ofuku) เป็นต้น
สำหรับเครื่องประดับผมหรือ ‘คันซาชิ’ (Kanzashi) จะเป็นเครื่องประดำประเภทหวี ปิ่นปักผม กิ๊บติดผมแบบแข็ง เป็นต้น โดยไมโกะที่มีวัยเยาว์กว่าจะประดับด้วยคันซาชิที่ดูหรูหราและสดใส สำหรับเกอิชาที่เป็นผู้ใหญ่แล้วจะมักประดัคันซาชิที่ดุเรียบง่ายและสุขุมมากกว่า
การแต่งหน้า
การแต่งหน้าของเกอิชามีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย เกอิชาจะมีการแต่งหน้าที่เข้มและชัดมากกว่าเพื่อให้ดูภูมิฐานสมกับเป็นผู้ใหญ่ ทาลิปสีแดงที่ทำจากดอกคำฝอยหรือเบนิฮานะบนริมฝีปากทั้งบนและล่าง ขณะที่ไมโกะจะแต่งหน้าโทนสดสัยสมวัยและทาลิปบนริมฝีปากล่างเพียงเท่านั้น ปัจจุบันการแต่งหน้าของไมโกะสามารถทาลิปทั้งริมฝีปากบนและล่าง รวมถึงการกรีดอายไลน์เนอร์บนเปลือกตาก็กลายเป็นที่นิยมมากขึ้นเช่นกัน
พบเกอิชาและไมโกะในชีวิตจริง
ปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นมีการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและวัฒนะรรมเกอิชาออกไปอย่างแพร่หลายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสประสบการณ์ญี่ปุ่นยุคเฮอันที่ยังคงมีลมหายใจ ไม่ว่าจะเป็นสารดี คอนเทนต์บนโลกออนไลน์ ภาพยนต์มิวสิคัลชื่อดังอย่าง ‘Maiko wa Lady’ (Lady Maiko 2014) หรือซีรีส์เน็ตฟลิกซ์อย่าง ‘แม่ครัวแห่งบ้านไมโกะ’ เป็นต้น
สำหรับใครที่อยากชื่นชมศิลปะการแสดงของเกอิชาและไมดกะด้วยตาของตนเองแล้ว ก็สามารถจองตั๋วการแสดงศิลปะ ‘โอโดริ’ (Odori) ตามรอยเกอิชาตามจังหวัดต่างๆ เช่น มิยาโกะโอโดริ (Miyako Odori) ที่เกียวโต อาซาชิกิโอโดริ (Ozashiki Odori) ที่แถบอาซากุสะ ที่มีจัดขึ้นทุกปี เลือกรอบที่ต้องการรับชมและจองตั๋วการแสดงและจองตั๋วเครื่องบิน ลัดฟ้าไปผ่อนคลายกับสาวงามแห่งเกียวโตกันเลย