dark mode light mode Search
Search

รวม 31 วัฒนธรรมญี่ปุ่นน่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยว!

วางแผนเที่ยวญี่ปุ่นให้สนุกและน่าจดจำไม่ซ้ำใครด้วยเกล็ดความรู้ 31 วัฒนธรรมญี่ปุ่นน่ารู้สำหรับนักท่องเที่ยว จัดเต็มทั้งอาหารญี่ปุ่นต้องลอง กิจกรรมและสถานที่ท่องเที่ยวในญี่ปุ่นที่ห้ามพลาด
โตเกียวทาวเวอร์ (Tokyo Tower)

ใครกำลังวางแผนไปเที่ยวญี่ปุ่นห้ามพลาด มาสร้างทริปที่น่าจดจำด้วยเกล็ดความรู้ 31 วัฒนธรรมญี่ปุ่นสำหรับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นอาหารญี่ปุ่นที่น่าลอง ชุดเครื่องแต่งกายสไตล์ญี่ปุ่น แนวคิดและความเชื่อของคนญี่ปุ่นที่แฝงอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ไปจนถึงศิลปะและความบันเทิงที่ต้องลองสัมผัสด้วยตนเองสักครั้งในชีวิต เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นรวมมาไว้ที่นี่หมดแล้ว

วัฒนธรรมอาหารและขนมหวานญี่ปุ่น

อาหารญี่ปุ่นเป็นที่เลื่องลือด้านกรรมวิธีการปรุงที่สามารถดึงเอกลักษณ์ของวัตถุดิบตามฤดูกาลมาผสมผสานเข้ากับเครื่องปรุงรสที่มีครบครันทั้งเปรี้ยว เค็ม หวาน เผ็ดและขม เมื่อประกอบกับการจัดวางและนำเสนอจานอาหารแต่ละมื้ออย่างปราณีต ก็สามารถสร้างอิทธิพลด้านวัฒนธรรมอาหารที่สืบทอดกันไปถึงระดับสากลได้ไม่ยาก

สำหรับใครที่อยากสัมผัสรสชาติญี่ปุ่นดั้งเดิมหรือที่เรียกว่า ‘วาโชคุ’ (Washoku) พร้อมกับดื่มด่ำกับบรรยากาศธรรมเนียมห้องครัวฉบับคนญี่ปุ่นแท้ๆ ก็เตรียมตัวให้พร้อมแล้วไปตามรอยอาหารญี่ปุ่นตามเช็คลิสต์ด้านล่างเลย

  1. ซูชิกับซาชิมิ

อิ่มเอมกับรสชาติของท้องทะเลไปกับ ‘ซูชิ’ (Sushi) และ ‘ซาชิมิ’ (Sashimi) สองพี่น้องที่หลายคนมักจะเข้าใจผิดหรือสงสัยว่าซูชิกับซาชิมิแตกต่างกันอย่างไร ทั้งซูชิและซาชิมิมีส่วนประกอบสำคัญคือปลาดิบ โดยตามธรรมเนียมแล้วคนญี่ปุ่นมักนิยมทานปลาดิบตามฤดูกาล เช่น ฤดูใบไม้ร่วงก็นิยมทานปลาแซลมอน (Shake) หรือปลาโอ (Katsuo) เป็นต้น

ความแตกต่างของซูชิและซาชิมิสามารถสังเกตได้อย่างง่ายดาย ซูชิคือปลาดิบที่วางบนข้าวหุงคลุกน้ำส้มสายชู (Sushi-meshi) ทั้งยังมีซูชิแบบสุกหรือบางประเภทที่ใช้ผักหรือเห็ดเป็นวัตถุดิบ ขณะที่ซาชิมิคือปลาดิบเพียงอย่างเดียว เสิร์ฟคู่กับโชยุ ใบชิโสะ ขิงดองและหัวใช้เท้าขูดนั่นเอง

  1. เทมปุระ (Tempura)

หลายคนคงจะพอคุ้นเคยกับอาหารประเภทชุบแป้งทอดกันอยู่บ้าง ‘เทมปุระ’ (Tempura) ก็จัดอยู่ในอาหารทอดหรือ ‘อาเกะโมโนะ’ (Agemono) ตามวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นดั้งเดิมเช่นเดียวกัน โดยกรรมวิธีการทอดก็แตกต่างกันไปตามแต่ละจังหวัดและภูมิภาค 

แน่นอนว่าเครื่องเคียงเทมปุระของแต่ละภูมิภาคก็แตกต่างกันด้วย ว่ากันว่าเดิมทีแล้วเทมปุระถือกำเนิดจากจังหวัดนางิซากิ (Nagasaki) บนเกาะคิวชู ใครที่อยากไปสัมผัสเทมปุระของแท้ก็อย่าลืมเก็บเข้าแผนไว้เลย

  1. ราเมน (Ramen)

‘ราเมน’ หรือ ‘ราเม็ง’ (Ramen) คือบะหมี่น้ำที่ได้รับอิทธิพลมาจาก ‘ลาเมี่ยน’ อาหารประเภทเส้นของประเทศจีน เป็นอีกหนึ่งเมนูอาหารที่มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก ด้านวัตถุดิบ เช่น โชยุราเมน ชิโอะราเมน ทงคตสึราเมน โดยคนญี่ปุ่นในแต่ละภูมืภาคก็มีสูตรและความนิยมแตกต่างกันไป

ด้านวิธีการรับประทานก็สามารถทานเป็นราเมนร้อน ราเมนเย็น ราเมนน้ำหรือราเมนแห้งก็เรียกได้ว่าครบครัน การตามเต็มสูตรราเมนของแต่ละร้าน แต่ละจังหวัดที่เป็นความท้าทายที่น่าสนุกในทริปท่องเที่ยวญี่ปุ่นเลยทีเดียว

หลังจากอิ่มเอมกับอาหารญี่ปุ่นดั้งเดิมแล้ว ก็มาเพิ่มรสชาติและความแปลกใหม่ให้กับการท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นด้วยแผนตามเก็บอาหารญี่ปุ่นสไตล์ตะวันตกหรือ ‘โยโชคุ’ (Yoshoku) ไปพร้อมกันกับเมนูด้านล่างเลย

  1. ข้าวห่อไข่

หากประเทศไทยมีข้าวไข่เจียว ประเทศญี่ปุ่นก็มี ‘ข้าวห่อไข่’ หรือ ‘โอมุไรซุ’ (Omuraisu) คืออาหารญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิพลมาจาก ‘ออมเล็ต’ หรือไข่เจียวสไตล์ตะวันตกนั่นเอง ข้าวห่อไข่มักประกอบไปด้วยข้าวผัดไก่และมะเขือเทศ ห่อด้วยไข่คนหรือไข่เจียว ราดด้วยซอสฮายาชิ ซอสมะเขือเทศ หรือซอสอื่นๆ ตามความชอบ

  1. ทงคัตสึ

อีกหนึ่งเมนูอาหารชุบแป้งทอดของญี่ปุ่นก็คือ ‘ทงคัตสึ’ อาหารญี่ปุ่นสไตล์ตะวันตกที่ได้รับอิทธิพลมาจากโปรตุเกส ทำมาจากเนื้อหมูหรือเนื้อวัวหนาๆ ชุบกับแป้ง ‘ปังโกะ’ (Panko) หรือเกล็ดขนมปังแล้วนำไปทอดจนออกสีทองอร่าม ทานกับข้าวญี่ปุ่นหุงร้อนๆ พร้อมผักและซุปเป็นเครื่องเคียง เรียกว่าสารอาหารครบถ้วนกันเลย

  1. โอโคโนมิยากิ

โอโคโนมิยากิ (Okonomiyaki) หรือ ‘พิซซ่าญี่ปุ่น’ คืออาหารญี่ปุ่นสไตล์ตะวันตกตระกูลกระทะร้อน คำว่า ‘โอโคโนมิ’ แปลว่า ‘ที่ชื่นชอบ’ และคำว่า ‘ยากิ’ หมายถึง ปิ้งย่าง โอโคโนมิยากิจึงเป็นการนำวัตถุดิบที่ผู้ทานชอบมาผสมรวมกันแล้วทอดกับแป้งบนกระทะร้อน ส่วนมากแล้วจะเป็นกะหล่ำปลีและเนื้อสัตว์ ก่อนจะราดด้วยซอสโอโคโนมิยากิและมายองเนส ตามด้วยการโรยสาหร่ายและปลาแห้งก็เป็นอันพร้อมทาน

แต่กว่าที่จะมาเป็นโอโคโนมิยากิอย่างที่ทุกคนรู้จักในวันนี้ ดั้งเดิมแล้วมีประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงมากมาย ไปตามรอยสไตล์โอโคโนมิยากิที่ใช่ในบทความนี้ได้เลย: โอโคโนมิยากิสูตรคันไซโอซาก้าและสูตรฮิโรชิม่าต่างกันยังไง?

ตบท้ายมื้ออาหารด้วยขนมญี่ปุ่นหลากหลายสไตล์ สัมผัสกลิ่นอายวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดไปพร้อมกันกับ ‘เช็คลิตส์ขนมญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวห้ามพลาด’ !

  1. ไดฟุกุกับดังโงะ

ไดฟุกุคือขนม ‘วากาชิ’ (Wagshi) ตระกูลโมจิชนิดหนึ่ง ด้านนอกเป็นแป้งข้าวเหนียวญี่ปุ่น ไดฟุกุแบบดั้งเดิมจะสอดไส้ด้วยถั่วแดงกวนหรือที่เรียกกันว่า ‘อันโกะ’ (Anko) แต่ในปัจจุบันมีการคิดค้นไส้รสชาติใหม่ๆ เช่น คัสตาร์ด ชาเขียว หรือมีการใส่ผลไม้อย่างสตรอว์เบอร์รี กีวี เป็นต้น

ส่วนดังโงะคือขนมหวานสไตล์ญี่ปุ่นตระกูลโมจิเช่นเดียวกัน ต่างกันที่ดังโงะจะไม่มีไส้ แต่จะมีการปรุงรสชาติและสีสันแตกต่างกันไปตามชนิดและฤดูกาล เช่น ฮานามิดังโงะ (Hanami-dango) จะเป็นดังโงะ 3 ก้อนที่มีสีขาว ชมพู เขียว นิยมรับประทานกับชาเขียว

  1. โดรายากิกับไทยากิ

โดรายากิคือขนมญี่ปุ่นที่มีลักษณะเป็นแพนเค้กกลมของชิ้นประกบกัน สอดไส้ด้วย ‘อังโกะ’ หรือถั่วแดงกวน หลายคนมักรู้จักโดรายากิจากการ์ตูนเรื่อง ‘โดเรม่อน’ หรือ ‘โดราเอมอน’ ไทยากิก็เป็นขนมญี่ปุ่นประเภทแป้งทอดสอดไส้ถั่วแดงเช่นเดียวกัน แต่ไทยากิจะเป็นขนมรูปปลาและปัจจุบันก็มีรสชาติหลากหลาย เช่น คัสตาร์ด ชีส มันม่วง เป็นต้น

  1. เมล่อนปัง

หนึ่งในขนมญี่ปุ่นยอดนิยมของวัยรุ่นคือ ‘เมล่อนปัง’ ขนมปังรูปเมล่อนแต่ไม่มีส่วนผสมของเมล่อน ถึงอย่างนั้น เมล่อนปังที่เป็นตระกูลขนมปังหวานอย่าง ‘คาชิปัง’ (Kashipan) ก็มีรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ละร้านก็มีเทคนิคในการอบให้กรอบนอกนุ่มในแตกต่างกันไป

เครื่องแต่งกายและสไตล์การแต่งตัวแบบหนุ่มสาวญี่ปุ่น

แม้เวลาจะผ่านไปแต่ความเป็นญี่ปุ่นยังเข้มข้นและสะท้อนอย่างชัดเจนผ่านทางวัฒนธรรมการแต่งกายของคนญี่ปุ่น ที่นอกจากจะยังคงสวมใส่เครื่องแต่งกายดั้งเดิมของญี่ปุ่นตามโอกาสต่างๆ แล้วยังมีการประยุกต์ให้เข้ากับสมัยนิยมได้อย่างกลมกลืนอีกด้วย

แน่นอนว่าจะท่องเที่ยวญี่ปุ่นให้สนุกก็คงจะพลาดโอกาสได้ลองสวมบทบาทเป็น ‘นิฮงจิน’ (Nihonjin) ไปไม่ได้ แต่จะสวมใส่ชุดอย่างเดียวก็คงไม่พอ มารู้จักความสำคัญของเครื่องแต่งกายของคนญี่ปุ่นดั้งเดิมไปพร้อมกันดีกว่า

  1. กิโมโน

กิโมโนเป็นชุดประจำชาติของญี่ปุ่นที่หลายคนคงจะเคยเห็นผ่านตาตามพิธีการหรือตามสื่อมาบ้าง ลักษณะเป็นผ้าขนาดยาวพาดทับด้วย ‘โอบิ’ หรือสายรัดเอว แต่สิ่งที่หลายคนไม่รู้คือสี ลวดลายและประเภทของกิโมโนมีความหมายทั้งสิ้น การเลือกกิโมโนที่เหมาะสมกับตนเองและฤดูกาลจึงเป็นเรื่องสำคัญ

อยากรู้ว่าต้องเลือกกิโมโนยังไง? ใส่แบบไหนถึงจะสวยและเหมาะกับเรา ไปหาคำตอบได้ที่บทความนี้เลย: กิโมโนยุคใหม่! ใส่กับอะไรก็สวย

  1. ยูกาตะ

ชุดยูกาตะคือเครื่องแต่งตายฤดูร้อนของคนญี่ปุ่น ยูกาตะสามารถระบายอากาศได้ดีกว่ากิโมโนเพราะทำจากผ้าฝ้าย ด้วยราคาที่ย่อมเยากว่าและสามารถซักได้บ่อยครั้ง คนญี่ปุ่นจึงนิยมสวมยูกาตะกันมากกว่าและจะเลือกสวมกิโมโนในพิธีสำคัญๆ แทน เช่น หลังจากอาบน้ำหรือแช่ออนเซ็น เที่ยวเล่นในเทศกาลฤดูร้อน เป็นต้น

  1. จินเบ

วัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมเองก็มีชุดอยู่บ้าน! จินเบนี่เองคือชุดลำลองที่คนญี่ปุ่นสวมใส่สำหรับอยู่บ้านในฤดูร้อนหรือทำกิจกรรมที่ต้องการความทะมัดทะแมงคล่องตัว โดยจินเบจะประกอบไปด้วยเสื้อและกางเกงขาสั้นประมาณเข่า สมัยก่อนนิยมใส่เฉพาะผู้ชาย แต่ปัจจุบันก็เป็นที่นิยมในหมู่ผู้หญิงด้วยความสบายเคลื่อนไหวง่ายนั่นเอง

  1. ฮากามะ

ฮากามะคือกางเกงขายาวที่มีเชือกผูกเอวให้กระชับกับลำตัว มักใส่คู่กับถุงเท้าแบบญี่ปุ่นที่แยกนิ้วโป้งออกจากนิ้วอื่นเรียกว่า ‘ทาบิ’ (Tabi) สมัยก่อนเป็นชุดสำหรับนักรบและชุดประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อแบบชินโต หลายคนมักคุ้นเคยกับภาพ ‘มิโกะ’ (Miko) ที่สวมฮากามะสีแดงประจำตามศาลเจ้าต่างๆ เป็นต้น

  1. ฮาโอริ

เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีฤดูหนาวที่หนาวจับใจ อีกหนึ่งเครื่องแต่งกายที่ไม่มีไม่ได้ก็คือ ‘ฮาโอริ’ หรือก็คือเสื้อคลุมกิโมโนที่มีความยาวประมาณครึ่งตัว และมีความหนาแตกต่างกันตามระดับความเย็นของแต่ละฤดู ปัจจุบันยังคงมีวัยรุ่นจำนวนมากนิยมใส่เป็นแฟชั่นร่วมสมัยเช่นกัน

  1. ฮัปปิ

นอกจากเสื้อคลุมกันหนาวแล้ว ในวัฒนธรรมการแต่งกายของคนญี่ปุ่นยังมี ‘ฮัปปิ’ เสื้อคลุมที่มีลวดลายเกี่ยวข้องกับท้องทะเล เพราะเป็นเสื้อคลุมสำหรับชาวประมงที่เป็นอีกหนึ่งอาชีพดั้งเดิมของคนญี่ปุ่น ปัจจุบันมักสวมในเทศกาล ‘โยซาโคอิ โซรัน’ (Yosakoi Soran) ของฮอกไกโด เป็นต้น

แนวคิดและความเชื่อของคนญี่ปุ่น

หนึ่งในสีสันการท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่พาให้นักท่องเที่ยวหลายต่อหลายคนติดใจคือกลิ่นอายของแนวคิด ปรัชญาและความเชื่อดั้งเดิมของคนญี่ปุ่น เรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมทางความคิดที่สืบทอดกันมาแสนนานและสะท้อนผ่านมุมเล็กๆ ที่บางคนอาจไม่ทันสังเกตเห็น การได้ค้นพบความเป็นญี่ปุ่นที่ซ่อนอยู่นั้นก็สร้างประสบการณ์เที่ยวญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใครได้เลยทีเดียว

  1. คามิกับพระเจ้า

คามิคือเทพหรือพระเจ้าตามศาสนาชินโต เป็นผู้คอยประจำการและดูแลธรรมชาติอย่างดิน ฟ้า อากาศ เช่น ‘อามาเทราสุ’ (Amaterasu) เทพีแห่งดวงอาทิตย์ ซึ่งคนญี่ปุ่นก็พึ่งพาคามิหรือเทพเจ้าผ่านการกราบไหว้ขอพรและขอ ‘โอมาโมริ’ หรือเครื่องรางจากศาลเจ้าเช่นเดียวกัน ศาลเจ้าจึงเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่สะท้อนวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นอย่างดี

  1. แนวคิดวะบิ-ซะบิ

แนวคิดวะบิ-ซะบิ (Wabisabi) คือการชื่นชมความงามของความไม่สมบูรณ์แบบและการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ฝังรากลึกอยู่ในการชื่นชมธรรมชาติและศิลปะ เช่น ศิลปะการซ่อมแซมภาชนะที่แตกหักอย่าง ‘คินทสึงิ’ (Kintsugi) เป็นต้น แนวคิดวะบิ-ซะบิยังสะท้อนมาในรูปแบบการตกแต่งบ้านและสวนสไตล์ญี่ปุ่น จนกลายเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องไปสัมผัสเลยทีเดียว

สำหรับใครที่อยากรู้ว่าแนวคิดวะบิ-ซะบิแอบซ่อนตามสถานที่ท่องเที่ยวที่ไหน มีกิจกรรมอะไรน่าทำบ้าง ไปตามหาพร้อมกันได้ที่บทความนี้เลย: ตามรอยแนวคิด ‘วะบิ-ซะบิ’ (Wabi-Sabi) ที่แฝงในญี่ปุ่น

  1. ผีและปีศาจในตำนานญี่ปุ่น

คนญี่ปุ่นดั้งเดิมเชื่อว่าจิตวิญญาณเหล่านั้นแอบซ่อนตัวปะปนอยู่ในสังคมมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย สังเกตจากนิทานและตำนานพื้นบ้านที่กล่าวถึงตัวตนของภูติผีปีศาจมากมาย ปัจจุบันก็มีกิจกรรมและเทศกาลจำนวนมากที่สะท้อนความเชื่อเกี่ยวกับภูติผีปีศาจ เช่น งานเทศกาลขบวนร้อยอสูร เทศกาลปาถั่ว หรือการสวมหน้ากากปีศาจในงานวัด เป็นต้น

รู้จักความเป็นญี่ปุ่นผ่านศิลปะและสถาปัตยกรรม

หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของญี่ปุ่นจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากสถาปัตยกรรมโบราณที่ยังคงได้รับการอนุรักษ์และดูแลรักษาเป็นอย่างดีมาจนถึงปัจจุบัน สถาปัตยกรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมไม่เพียงสะท้อนให้เห็นวิทยาการของคนญี่ปุ่นโบราณเท่านั้น แต่ยังสะท้อนวิถีชีวิตและประเพณีที่เป็นรากเหง้าสำคัญของ ‘ความเป็นญี่ปุ่น’ ในปัจจุบันอีกด้วย

  1. ศาลเจ้าและประตูโทริอิ

ตามความเชื่อของคนญี่ปุ่น ศาลเจ้าคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่สถิตของเทพเจ้าหรือ ‘คามิ’ จึงมักสร้างไว้บนที่สูงอย่างบนภูเขา สำหรับผู้ที่อยากกราบไหว้ขอพรเทพเจ้าก็จะต้องผ่าน ‘โทริอิ’ (Torii) หรือก็คือประตูสีแดงมหึมาอันเป็นเส้นแบ่งเขตแดนมนุษย์กับอาณาเขตพระเจ้า ศาลเจ้าแต่ละแห่งก็มีรายละเอียดสถาปัตยกรรมและรูปแบบโทริอิที่แตกต่างกันตามยุตสมัย

  1. บ้านญี่ปุ่นโบราณ

‘มิงกะ’ (Minka) คือบ้านทรงญี่ปุ่นดั้งเดิมที่มุงหลังคาด้วยฟางหรือกระเบื้อง ยกตัวเรือนเหนือพื้นเพื่อระบายความชื้นออกจากเสื่อทาทามิ (Tatami) มีบริเวณหน้าบ้านเป็นพื้นที่รับแขก และมี ‘เตาอิโรริ’ (Irori) เป็นเตาไฟฝังในตัวบ้านเป็นห้องกินข้าวและห้องนั่งเล่นในฤดูที่อากาศหนาว มักจะเห็นตามบ้านเรือนของตระกูลเกษตรหรือพ่อค้าญี่ปุ่นโบราณ

  1. บ้านทรงกัชโชสึคุริ

อีกหนึ่งบ้านทรงญี่ปุ่นโบราณที่ได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลกคือบ้านทรงกัชโชสึคุริ (Gassho-zukuri) ตัวอย่างที่นักท่องเที่ยวมักคุ้นเคยคือหมู่บ้านชิราคาวะโกะ (Shirakawago) โดดเด่นด้วยบ้านมุงหลังคาด้วยฟางหนาเพื่อป้องกันความหนาวเย็น โดยมุงกันเป็นทรงจั่วหรือทรงมือพนมเพื่อป้องกันการสะสมของหิมะมากเกินไปจนหลังคาถล่มนั่นเอง

  1. สวนหินหรือสวนคาเระซันซุย

สวนหินหรือที่เรียกว่าสวน ‘คาเระซันซุย’ คือการจัดสวนสไตล์ญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อตามพุทธศาสนานิกายเซ็น เดิมทีเป็นสถานที่เพื่อประกอบการทำสมาธิจึงมักมีให้เห็นตามวัดวาหรือศาลเจ้า สวนหินคาเระซันซุยมีอีกชื่อว่าสวนแล้ง เนื่องจากไม่มีองค์ประกอบธาตุน้ำอยู่เลย ประกอบไปด้วยหิน ทราย มอส ต้นไม้หรือดอกไม้ประจำฤดูเท่านั้น

  1. อิเคบานะ

หนึ่งในสาม ‘วิถีแห่งญี่ปุ่น’ ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณคือวิถีแห่งการจัดดอกไม้หรือ ‘คะโด’ (Kadou) ที่เรียกว่า ‘อิเคบานะ’ (Ikebana) เป็นสไตล์การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิพลมาจากการจัดดอกไม้เพื่อบูชาพระพุทธรูป ปัจจุบันเป็นกิจกรรมยอมนิยมของนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นเลยทีเดียว

  1. พิธีชงชา

การชงชาที่เรียกว่า ‘ซะโด’ (Sadou) หรือ ‘ฉะโด’ (Chadou) เป็นอีกหนึ่งวิถีแห่งญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนและมีการปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมญี่ปุ่น ก่อนจะกลายเป็นวิชาที่สืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน เรียกว่าเป็นกิจกรรมที่สะท้อนประเพณี ค่านิยมและความเชื่อของคนญี่ปุ่นได้หลายยุคหลายสมัย

  1. การเขียนพู่กัน

อีกหนึ่ง ‘วิถีแห่งญี่ปุ่น’ ที่ยังมีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ การเขียนพู่กันหรือ ‘โชะโด’ (Shodou) คือการใช้พู่กันจุ่มหมึกดำเขียนตัวอักครคันจิลงไปบนแผ่นกระดาษ โดยให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวและการถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนในตอนนั้น ปัจจุบันยังมีการใช้ประกอบพิธีสำคัญ  เช่น วันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น

ความบันเทิงในวัฒนธรรมญี่ปุ่น

เทศกาลและสิ่งบันเทิงก็เป็นอีกหนึ่งด้านที่โดดเด่นของวัฒนธรรมญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน นอกจากจะมีเทศกาลยิ่งใหญ่อลังการตลอดทั้งปี ทุกสี่ฤดูแล้ว ยังมีกิจกรรมให้ทำอีกมากมาย เรียกว่าสำหรับใครที่วางแผนไปเที่ยวญี่ปุ่นก็ไม่ต้องกลัวเหงาหรือเบื่อกันเลยทีเดียว

  1. คาบุกิกับละครโนห์ 

คาบุกิคือศิลปะการแสดงประเภทละครเวทีโบราณที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น มีลักษณะเป็นละครนอกสำหรับชาวบ้าน นักแสดงเป็นผู้ชายล้วน ลักษณะเด่นคือการแต่งหน้าที่มีเอกลักษณ์และแต่งตัวที่ฉูดฉาดหรูหรา ท่วงท่ากระฉับกระเฉงและมีเนื้อหาที่ตื่นเต้นเร้าใจ

ขณะที่ละครโนห์เป็นศิลปะการแสดงสำหรับชนชั้นสูง จึงเคร่งครัดเรื่องความสงยงามตามแบบแผนและความถูกต้อง นักแสดงและนักดนตรีต้องได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ลักษณะเด่นจึงเป็นท่วงท่าที่เชื่องช้า หน้ากากประกอบการแสดง และเนื้อหาที่สะท้อนเรื่องราวจากนิทานหรือวรรณกรรมโบราณที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าและมนุษย์

  1. เกอิชาและไมโกะ

เกอิชาคือหญิงสาวที่เชี่ยวชาญทางศิลปะการบันเทิงหลากหลายแขนง ทั้งการร้องรำ การเล่นดนตรี หรือเครื่องเล่นและการละเล่นต่างๆ  นัลเป็นอาชีพโบราณที่ยังสืบทอดมาถึงปัจจุบันจนเป็นสํญลักษณ์ของวัฒนธรรมญี่ปุ่น สำหรับเด็กสาวที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือหญิงที่อยู่ในช่วงการฝึกหัดทักษะการเป็นเกอิชาจะเรียกว่า ‘ไมโกะ’

  1. เทศกาลฤดูร้อน

เทศกาลฤดูร้อนของญี่ปุ่นจัดขึ้นช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เพื่อเฉลิมฉลองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ บูชาเทพเจ้า หรือเฉลิมฉลองตามฤดูกาล เรียกว่ารวมความยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาไว้ในที่เดียว ภายในงานประกอบไปด้วยร้านค้าแผงลอย ขบวนแห่ ไปจนถึงพิธีกรรมและการจัดพลุชมดอกไม้ไฟ เป็นต้น

  1. เทศกาลชมดอกซากุระ

เทศกาลชมดอกไม้สำคัญของญี่ปุ่นคือเทศกาลชมดอกซากุระในฤดูใบไม้ผลิช่วงเดือนเมษายน เป็นช่วงเวลาที่ครอบครัว เพื่อนหรือคนสำคัญจะนัดกันมาปิกนิกเฉลิมฉลองตามสวนสาธารณะ หรือชื่นชมซากุระในทัศนยภาพต่างๆ เช่น เส้นทางใกล้บ้าน ตามปราสาทโบราณ เป็นต้น

  1. เทศกาลชมจันทร์

เทศกาลชมจันทร์คือประเพณีไหว้พระจันทร์ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยจะมีการทำโมจิเป็นก้อนกลมเพื่อเลียนแบบพระจันทร์เต็มตัว นั่งฉลองชมจันทร์กับครอบครัวหรือคนสำคัญในช่วงกลางคืน หรือออกไปชมเทศกาลหรืองานแสดงดนตรีประจำท้องถิ่น พร้อมกับดื่มด่ำอาหารประจำเทศกาล เช่น ทสึคิมิโซบะ (Tsukimi Soba)

  1. เทศกาลหิมะซัปโปโร

งานกิจกรรมครั้งใหญ่ของญี่ปุ่นที่พลาดไม่ได้คือเทศกาลหิมะซัปโปโรที่จะจัดขึ้นในช่วงกุมภาพันธ์ของทุกปีที่เมืองซับโปโร จังหวัดฮอกไกโด ภายในงานจะมีการประกวดและแสดงผลงานแกะสลักหิมะ หนึ่งในนั้นก็มีกลุ่มนักแกะสลักหิมะชาวไทยเข้าร่วมทุกปีเช่นกัน

ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศแห่งการจัดงานเทศกาลอย่างญี่ปุ่นแล้ว แน่นอนว่ายังมีเทศกาลอีกมากมายตลอดทั้งปีที่สร้างความสนุกสนานบันเทิงทั้งกับคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวมากมาย ใครสนใจอยากวางแผนตามเก็บเทศกาลญี่ปุ่นสามารถตามรอยเทศกาลได้ในบทความนี้เลย: 8 เทศกาลแปลกตาที่ต้องลองไปสัมผัสด้วยตัวเองสักครั้ง

ทั้ง 30 วัฒนธรรมญี่ปุ่นน่ารู้เหล่านี้ต่างก็มีสเน่ห์เป็นของตัวเอง ถึงเวลาจดกิจกรรมที่ใช่ สถานที่ที่ชอบ แล้วเริ่มวางแผนเวลาที่อยากจะไปท่องโลกแห่งแดนปลาดิบ ออกสำรวจวัฒนธรรมญี่ปุ่นอีกมากมายที่กำลังรอคุณไปค้นพบไปด้วยกัน

Total
0
Shares