dark mode light mode Search
Search

Ninja: ส่องตำนานนักรบเงา

กระแสนินจาเริ่มกลับมาร้อนแรงในยุคนี้อีกครั้ง ส่วนหนึ่งนั้นน่าจะมาจากซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่องดังอย่าง House of Ninjas (2024) ที่เข้าสตรีมบน Netflix ให้ได้ชมพร้อมกันทั่วโลก นอกจากจะแทรกประวัติศาสตร์และแฝงความรู้เกี่ยวกับนินจาไว้มากมายแล้วซีรีส์เรื่องนี้ยังสร้างขึ้นจากการตั้งคำถามที่ว่า – จะเป็นอย่างไรหากสายเลือดแท้นินจายังสืบทอดและดำรงอยู่ในโลกยุคปัจจุบัน

การต่อสู้มันส์หยดเคล้ากับดราม่าครบรสทั้งสนุกและเศร้าทำให้คนบอกกันปากต่อปากจนทำให้กระของนินจากลับมาดังอีกครั้ง พร้อมกับเริ่มได้ยินการตั้งคำถามและพูดคุยถึงประเด็นที่ว่า “แล้วทุกวันนี้ยังคงมีนินจาแฝงกายอยู่รอบตัวเราหรือไม่?” ซึ่งตรงนี้ไม่ได้หมายถึงซอฟท์พาวเวอร์ทั้งหลายที่ต่อยอดมาจากตำนานนินจา ตั้งแต่อนิเมะ ภาพยนตร์ ยันสวนสนุก แต่หากหมายถึงนินจาที่เป็นนักรบเงาตัวจริงเสียงจริง แล้วก็ดูเหมือนว่าข่าวลือที่เคยซุบซิบว่ายุคนี้ยังคงมีนินจาคอยปฏิบัติการลับๆ ให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นอยู่นั้นมีแนวโน้มจะน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นทุกวันด้วยเช่นกัน

นินจาคือใคร

นินจา (Ninja / 忍者) คือหนึ่งในนักรบญี่ปุ่นโบราณที่ปฏิบัติการคล้าย “สายลับ” เชี่ยวชาญการการแฝงตัวเพื่อสอดแนมข้อมูลจากศัตรู ขณะเดียวกันก็เป็น “สายป่วน” คอยขัดขวางตลอดจนตัดกำลังฝ่ายตรงข้ามด้วยวิธีต่างๆ เพื่อไม้ให้พร้อมรบได้ (อาทิ การเผาคลังอาวุธ หรือ ทำลายคลังเสบียง เป็นต้น) รวมถึงบางคราวก็จำเป็นต้องเป็น “สายบู๊” ทำหน้าที่นักลอบสังหารแอบปลิดชีวิตอริโดยไม่ทิ้งร่องรอย ตลอดจนต้องเป็น “สายแกร่ง” ดั่งบอดี้การ์ดที่ต้องคอยปกป้องและคุ้มครองเจ้านายให้ปลอดภัยที่สุดด้วยนั่นเอง

หากอยากรู้จักนินจาให้ถึงแก่นแท้ยิ่งขึ้นอาจต้องเริ่มเรียนรู้จากรากศัพท์และคำเรียกขานตั้งแต่ยุคโบราณ ย้อนอดีตกลับไปสมัยที่ยังมีนินจาอยู่นั้นนักรบเงากลับไม่ได้ถูกเรียกขานว่านินจาทว่าแท้จริงแล้วจะถูกเรียกว่า “ชิโนบิ (Shinobi / 忍び)” ซึ่งย่อมาจากคำเต็มว่า “ชิโนบิโนะโมโนะ (Shinobi no mono / 忍びの者)” แปลตรงตัวได้ว่าผู้ที่ชอบแอบย่องหรืออีกนัยหนึ่งก็หมายถึงสายลับนั่นเอง

ส่วนคำว่านินจานั้นเพิ่งจะปรากฏเรียกในยุคหลัง (ว่ากันว่าเกิดขึ้นในยุคที่ชิโนบิและนักรบยุคโบราณจางหายไปจากสังคมญี่ปุ่นแล้วด้วยซ้ำ) โดยอาจมาจากการที่คนรุ่นหลังศึกษาตำราโบราณแล้วมีการปรับคำเรียกใหม่ซึ่งกร่อนมาจากคำเต็ม 忍びの者 ให้เหลือเป็นคันจิแค่ 2 ตัวอักษรคือ 忍者 แล้วอ่านออกเสียงแบบอักษรภาษาจีนก็จะได้คำอ่านว่า “นินจา” นั่นเอง

ตำนานนักรบเงา

ชิโนบิ (Shinobi / 忍び) เป็นคำที่ใช้เรียก “สายลับ/นักรบเงา” มาแต่โบราณ ว่ากันว่าหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงชิโนบิก็คือบันทึก “มังโยชู (Manyoshu / 万葉集) ที่แปลว่า “ผลงานรวบรวมใบไม้นับหมื่น (Collection of Ten Thousand Leaves)” ซึ่งนี่คือบันทึกรวมบทกวีญี่ปุ่นที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน โดยบทกวีเหล่านี้คาดว่าเขียนขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่ 8 ราวปี ค.ศ.759 ที่ตรงกับยุคนาระ (Nara Period; 710-794) แต่หลักฐานที่ถูกอ้างอิงมากที่สุดอาจเป็นพงศาวดาร “ไทเฮคิ (Taiheiki / 太平記)” มหากาพย์แห่งประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในยุคกลางที่บันทึกไว้ราวช่วงปลายศตวรรษที่ 14 อันเป็นบันทึกด้านศึกสงครามที่เกี่ยวเนื่องกับชิโนบิโดยตรง

Credit: wikipedia

พงศาวดารไทเฮคิบันทึกไว้ในสมัยนัมโบคุ (Nanbokucho Jidai / 南北朝時代) อันเป็นช่วงเริ่มต้นยุคมุโรมาจิ (Muromachi period; ค.ศ.1336-1573) ที่มีศึกสงครามสองทัพระหว่างราชสำนักเหนือ (เกียวโต) กับราชสำนักใต้ (โยชิโนะ (ปัจจุบันคือนาระ)) สู้รบกันอย่างดุเดือด ช่วงเวลานี้มีการใช้ชิโนบิมาสืบข้อมูลลับระหว่างกันเพื่อที่จะได้เป็นต่อศัตรู นับจากนั้นชิโนบิก็เริ่มมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ จนเลื่องชื่ออย่างมากในช่วงสมัยเซ็งโกกุ (Sengoku Jidai /戦国時代) ปลายยุคมุโรมาจิ โดยเฉพาะช่วงสงครามโอนิน (Onin no Ran / 応仁の乱) ที่รัฐบาลโชกุนส่วนกลาง (เกียวโต) เสื่อมอำนาจลงจนไม่สามารถปกครองแคว้นต่างๆ ได้ และทำให้ญี่ปุ่นเกิดความแตกแยกครั้งใหญ่

แต่ละแคว้นต่างต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจ ไดเมียว (รวมถึงซามูไร) หลายคนจึงเริ่มจ้างชิโนบิมากขึ้นเพื่อเสริมทัพให้ตนเหนือกว่าศัตรู ในสมัยเซ็งโกกุนี้เองมีชิโนบิสองตระกูลใหญ่ที่โด่งดังอย่างมากนั่นคือ สำนักอิกะ (Iga-ryu / 伊賀流) แห่งเมืองอิกะ (Iga / 伊賀) (ปัจจุบันอยู่ใน จ.มิเอะ) และ สำนักโคกะ (Koga-ryu / 甲賀流) แห่งเมืองโคกะ (甲賀) (ปัจจุบันอยู่ใน จ.ชิกะ) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ไม่เพียงแค่ชิโนบิจะต้องปกปิดตัวตนไม่ให้ใครรู้เท่านั้นการฝึกฝนวิชาก็ยังต้องเป็นความลับสุดยอดอีกด้วย ทั้งอิกะและโคกะนั้นต่างก็เป็นหมู่บ้านกลางป่าเขาห่างไกลจากชุมชนเมืองใหญ่ (เสมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก) จึงทำให้ที่นี่เหมาะเป็นแหล่งกบดานชั้นเยี่ยมสำหรับฝึกฝนวิชา และสองสำนักนี้ก็สามารถสร้างชิโนบิฝีมือดีขึ้นมามากมาย

นินจา VS ซามูไร

เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยและสับสนระหว่างบทบาทและหน้าที่ของนินจากับซามูไรกันอยู่พอสมควร ข้อแตกต่างระหว่างสองวิชาชีพนี้ก็คือ “ซามูไร” ถือเป็นนักรบเปิดหน้าที่เปรียบได้กับทหารในกองทัพ มียศถาบรรดาศักดิ์ ตลอดจนได้รับค่าจ้างในอัตราสูง ซามูไรมักเป็นอาชีพประจำตระกูลของชนชั้นสูงในสังคม มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนตรงกันข้ามกับ “นินจา” หรือ “ชิโนบิ” อย่างชิ้นเชิงซึ่งเป็นดั่งนักรบปิดหน้าที่เปรียบได้กับสายลับต้องอำพรางตัวเวลาปฏิบัติภารกิจ ห้ามเปิดเผยให้ใครรู้เด็ดขาดว่าตัวเองเป็นชิโนบิ (ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของนายและตัวเองด้วย) ทำงานแบบไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ ไม่มีคำสรรเสริญ หรือแม้กระทั่งยามตายก็ต้องจากไปอย่างเงียบงันไร้ร่องรอย

สำหรับซามูไรภารกิจหัวใจหลักก็คือการรบราฆ่าฟันศัตรูทว่าภารกิจหัวใจหลักของชิโนบิก็คือการเลี่ยงการปะทะกันให้มากที่สุด งานสำคัญของชิโนบิก็เลยเป็นการทำทุกวิถีทางเพื่อสอดแนมข้อมูลศัตรูโดยไม่ให้ถูกจับได้และต้องเอาชีวิตให้รอดเพื่อกลับมารายงานเจ้านายให้ได้ในที่สุด แต่ถึงอย่างไรนักรบทั้งสองสายก็มีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาหลายศตวรรษ ตลอดจนมีส่วนสำคัญที่ทำให้แม่ทัพใหญ่ปราบศึกยุทธการที่เซกิงาฮาระ (Battle of Sekigahara / 関ヶ原の戦い) ได้สำเร็จซึ่งนี่ถือเป็นจุดสิ้นสุดแห่งสมัยเซ็งโกกุอันแดงเดือดและเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเอโดะอันรุ่งเรือง ก่อให้เกิดการสถาปนารัฐบาลโชกุนโทกุงาวะ (Tokugawa shogunate / 徳川幕府) ที่รวบรวมแผ่นดินญี่ปุ่นให้กลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้งเช่นกัน

ยุคเอโดะ (Edo period; ค.ศ.1603-1868) รัฐบาลโชกุนพยายามลดทอนอำนาจของเขตปกครองต่างๆ และการทำสงครามระหว่างกันก็เริ่มลดลง ในยุคที่บ้านเมืองสงบสุขขึ้นนี้ทั้งซามูไรและชิโนบิต่างก็ปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่มาเป็นการอารักขามูลนายตลอดจนรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองแทน

จนกระทั่งช่วงปลายุคเอโดะได้เกิดเหตุการณ์สำคัญนั่นก็คือการปฏิวัติเมจิ (Meiji Revolution / 明治維新) ขึ้นในปี ค.ศ.1868 เพื่อทวงคืนอำนาจการปกครองประเทศกลับสู่พระจักรพรรดิ เมื่อการล้มล้างสำเร็จก็ถือเป็นจุดสิ้นสุดของระบอบโชกุนนับแต่นั้นมา จากการรบรูปแบบโบราณก็เริ่มปรับเปลี่ยนเป็นกองทัพสมัยใหม่ตามแบบตะวันตก การเข้ามาของอาวุธปืนและยุทโธปกรณ์ทันสมัยก็ยิ่งทำให้อาวุธแบบเก่าตลอดจนนักรบสมัยโบราณเริ่มลดน้อยและเลือนหายไปตามกาลเวลาในที่สุด

ศาสตร์และศิลป์แห่งนินจา

ศาสตร์แห่งนินจานั้นเรียกกันว่า “นินจุตสึ (Ninjutsu /忍術)” เป็นศิลปะการสงครามที่ครอบคลุมหลากหลายทักษะเข้าไว้ด้วยกัน ศาสตร์นี้ไม่ได้เน้นการต่อสู้เท่านั้นแต่ยังรวมถึงศาสตร์แห่งการปลอมแปลง สอดแนม การเอาตัวรอด ไปจนถึงความรู้เรื่องสมุนไพรและความชำนาญด้านภูมิศาสตร์ด้วย ว่ากันว่าศาสตร์นี้เข้ามาญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 5 โดยได้รับการถ่ายทอดมาจากนักบวชชาวจีนอีกทีก่อนที่จะแปลงเป็นศาสตร์เฉพาะตัวของญี่ปุ่นในเวลาต่อมา และกลายเป็นหัวใจสำคัญของนินจาทุกสำนักเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ยุคก่อนการฝึกนินจาต้องเป็นความลับและไม่มีการเขียนตำราใดไว้ชัดเจนทว่าเมื่อเข้าสู่ยุคเอโดะ (Edo period; ค.ศ.1603-1868) นั้นก็ได้มีการฟื้นฟูปฏิรูปศาสตร์นี้ใหม่ตลอดจนพัฒนาปรับเปลี่ยนให้ก้าวหน้าและบันทึกศาสตร์นี้ให้เป็นกิจลักษณะซึ่งกลายเป็นการวางรากฐานสำคัญที่ทำให้ศาสตร์นินจุตสึได้รับการสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับยุคปัจจุบันนินจุตสึกลายเป็นแขนงศิลปะการต่อสู้และป้องกันตัวของญี่ปุ่นที่คนทั่วโลกให้ความสนใจพอสมควร แถมยุคนี้สำนักนินจาต่างถูกปัดฝุ่นให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง มีการฝึกฝนนินจาตามศาสตร์นินจุตสึอย่างจริงจัง รวมถึงมีการตั้งสำนักนินจาสายใหม่ขึ้นมาอีกมากมายด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันพื้นที่ต้นกำเนิดตระกูลนินจาอันโด่งดังก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของท้องถิ่นนี้ไว้ด้วยซึ่งหนึ่งในองค์กรสำคัญที่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจังก็คือ มหาวิทยาลัยมิเอะ (Mie University) ที่เปิด สถาบันศึกษาวิจัยนินจานานาชาติ (International Ninja Research Center) อย่างเป็นทางการและเปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาโทในสาขานินจาศึกษา (Ninja Studies) เพื่อให้คนทั่วโลกได้มาเรียนรู้ศาสตร์นินจาที่แท้จริงอีกด้วย ซึ่งนี่น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกว่านินจาไม่มีวันตายแน่นอน

ชุดและอาวุธนินจา

เชื่อกันว่ายุคแรกนั้นชิโนบิมักเป็นชาวบ้านธรรมดา (ชาวไร่ ชาวนา) ที่มารับจ้างสืบข่าว ยุคก่อนจึงอาจเป็นการแต่งกายธรรมดาให้กลมกลืนกับผู้คนมากกว่าหรือแม้ก็ปลอมแปลงตนเป็นอาชีพอื่น อาทิ พ่อค้า หรือ นักบวช ซึ่งเป็นอาชีพที่คนสมัยก่อนไว้ใจและสามารถเข้าถึงคนในสังคมได้ง่าย อย่างไรก็ดีบางแหล่งก็มีการจัดแสดงชุดนินจาโบราณที่ดูเป็นยูนิฟอร์มขึ้นมาหน่อย แต่นั่นก็ปรับเปลี่ยนมาจากชุดชาวไร่ชาวนาเป็นหลัก

สำหรับยูนิฟอร์มสีดำสุดเท่ที่เราคุ้นเคยนั้นอาจไม่ใช่ชุดนินจาดั้งเดิมแต่เป็นการดีไซน์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ในยุคหลังนี่เอง ว่ากันว่าจุดเริ่มต้นอาจจะมาจากการแสดงละครคาบูกิ (Kabuki / 歌舞伎) ที่เมื่อมีบทชิโนบิเข้ามานั้นการจะสื่อสารให้เห็นถึงบทบาทนักรบเงาแฝงกายซ่อนเร้นดุจสายลับและแตกต่างจากนับรบซามูไรนั่นก็เลยเลือกใช้การแต่งกายในชุดดำเพื่อสื่อถึงการอำพรางตนแทน ชุดดำนี้ยังเห็นได้ยากในความมืดขณะเดียวกันบนเวทีที่สว่างชุดที่ไม่มีรายละเอียดใดนี้ก็สื่อถึงการแฝงตัวที่คนไม่เห็นได้ด้วยนั่นเอง จากจุดนั้นน่าจะเป็นจุดตั้งต้นที่ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดมาเป็นชุดนินจาอย่างที่เห็นในทุกวันนี้

เรื่องของอาวุธก็เช่นกัน เนื่องจากพื้นเพเดิมของชิโนบินั้นมาจากชนชั้นล่างที่มักเป็นเกษตรกรอาวุธส่วนใหญ่จึงพัฒนาขึ้นจากเครื่องมือทำการเกษตรทั้งหลายรวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ของนินจาก็พัฒนามาจากวัตถุดิบธรรมชาติในวิถีชีวิตประจำวันด้วย อย่างเช่น สนับมือปลายแหลม (Tekko-kagi / 手甲鉤) ที่พัฒนามาจากคราด, ตะขอเกี่ยวผูกเชือก (Kaginawa / 鈎縄/鉤縄) ที่พัฒนามาจากเคียวและเชือกป่าน, หรือท่อช่วยหายใจในน้ำที่ทำมาจากต้นกกตากแห้ง เป็นต้น แต่อาวุธเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ประจำกายนินจาที่สุดนั้นต้องยกให้ ดาวกระจาย (Shuriken / 手裏剣) ที่น่าจะพัฒนามาจากมีดสั้น นอกจากจะเท่แล้วยังเป็นอาวุธที่พกพาสะดวก หยิบใช้งานง่าย และมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม

นินจากระฉ่อนโลก

ถึงแม้ว่าชาวตะวันตกจะรู้จักชิโนบิมาอย่างช้านานแต่การรู้จักคำว่า “นินจา” อย่างแพร่หลายไปทั่วโลกจริงๆ นั้นก็เพิ่งจะเริ่มเมื่อช่วงกลางศตวรรษที่ 20 นี้เอง ย้อนกลับไปในอดีตคำว่าชิโนบิปรากฏในเอกสารตะวันตกครั้งแรกราว ค.ศ.1603 ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่อยู่ในหนังสือ Vocabulario da Lingoa de Iapam (โวคาบูลาริโอ ดา ลินกัว เดอ อิอาปัม) หรือ Nippo Jisho (日葡辞書) พจนานุกรมภาษาญี่ปุ่น-โปรตุเกสฉบับบุกเบิก ส่วนจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนรู้จักและเรียกว่า “นินจา” นั้นไม่ทราบแน่ชัดนัก ทว่าหลักฐานน่าเชื่อถือหนึ่งที่สืบค้นได้ก็คือมีการตีพิมพ์บทความเรื่อง “The Fabulous Ninjas” ลงในหนังสือพิมพ์ The Times of India เมื่อปี ค.ศ.1962 นั่นเอง

แต่จุดเปลี่ยนแท้จริงที่ส่งให้นินจาโด่งดังทั่วโลกน่าจะอยู่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ราวปี ค.ศ.1964 อันเป็นปีที่มีการจัดมหกรรม Tokyo Olympic 1964 ขึ้นครั้งแรกในญี่ปุ่น เวลานั้นคนทั่วโลกต่างหันมาสนใจในมหาอำนาจแห่งเอเชียเป็นอย่างมาก แล้วในปีเดียวกันนั้นเองก็ได้มีการตีพิมพ์นวนิยายเรื่อง You Only Live Twice ออกจำหน่ายซึ่งนี่คือนวนิยายลำดับที่ 12 ของนวนิยายชุดชื่อดังอย่าง James Bond ที่ประพันธ์โดย Ian Fleming เรื่องราวภายในเล่มเชื่อมโยงถึงญี่ปุ่นแล้วก็มีนินจาเป็นหนึ่งในบทบาทสำคัญของเรื่องนี้ด้วย ต่อมาในปี ค.ศ.1967 นวนิยายเรื่องนี้ก็ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ภาคต่อหนึ่งของ James Bond แน่นอนว่าเรื่องนี้โด่งดังไปทั่วโลก นินจาเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายถึงขนาดเริ่มมีการบรรจุคำนี้เข้าไปในตำราอ้างอิงด้านภาษาหลายแหล่งรวมถึง Oxford English Dictionary ด้วย

ช่วงเวลาเดียวกันนั้นการ์ตูนนินจาดังของญี่ปุ่นอย่าง นินจาฮาโตริ (Ninja Hattori-kun / 忍者ハットリくん) ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ.1964 เช่นกัน ด้วยความที่เป็นผลงานของปรมาจารย์ชื่อดังอย่าง อ.ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ (Fujiko Fujio / 藤子 不二雄) เลยทำให้เป็นการ์ตูนฮิตอย่างรวดเร็ว สองปีต่อมาฮาโตริถูกนำมาผลิตเป็นอนิเมะออกฉายทางทีวีครั้งแรกในปี ค.ศ.1966 และขึ้นแท่นเป็นการ์ตูนขวัญใจคนญี่ปุ่นทันที ก่อนที่จะขยับขยายเริ่มออกฉายในต่างประเทศและกลายเป็นการ์ตูนดังระดับโลกในเวลาต่อมา

Credit: peanuts-club

เรื่องราวของนินจาจากหลายแหล่งบูมขึ้นมาพร้อมกัน (อย่างไม่ได้ตั้งใจ) ประกอบกับช่วงเวลานั้นญี่ปุ่นเริ่มเนื้อหอมจนทำให้คนหันมาสนใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นกันไปทั่วโลก ช่วงเวลานั้นน่าจะเป็นการจัดกระแสครั้งสำคัญที่ทำให้ทุกคนได้รู้จักนักรบเงาอันเกรียงไกรและคลั่งไคล้นินจามาจนถึงทุกวันนี้

สุดยอดนินจาในตำนาน

ยอดฝีมือนินจาที่โด่งดังที่สุดตลอดกาลนั้นคงต้องยกให้กับ ฮัตโตริ ฮันโซ (Hattori Hanzo / 服部 半蔵) นอกจากจะเป็นนักรบเงาในตำนานผู้เก่งฉกาจทั้งยังเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อการสร้างชาติญี่ปุ่นแล้ว เขาคนนี้ก็ยังเป็นต้นแบบของตัวละครและตัวการ์ตูนดังในวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ (Pop Culture) ญี่ปุ่นยุคปัจจุบัน ตลอดจนเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์คาร์แรกเตอร์สำคัญตามมาอีกมากมายด้วย ไม่เพียงเท่านั้นเขายังเป็นเสมือนกุญแจสำคัญที่ทำให้คนทั่วโลกได้รู้จักกับคำว่า “นินจา” อย่างแท้จริงอีกด้วย

ฮัตโตริ ฮันโซ มีชื่อจริงว่า ฮัตโตริ มาซานาริ (Hattori Masanari / 服部 正成) เกิดเมื่อปี ค.ศ.1542 ณ เมืองมิกาวะ (Mikawa / 三河国) (ปัจจุบันคือบริเวณเมืองโอกาซากิ จ.ไอจิ) เป็นบุตรชายในตระกูลฮัตโตริ ซึ่งพ่อของเขาก็คือ ฮัตโตริ ยาสุนากะ (Hattori Yasunaga / 服部 保長) ผู้มีตำแหน่งเป็น “ฮันโซที่ 1” ซึ่งถือเป็นหัวหน้าของกลุ่มนินจาอิกะ I Credit (ภาพซ้าย): wikipedia

ตระกูลฮัตโตริสังกัดรับใช้ตระกูลมัตสึไดระ (Matsudaira clan / 松平氏) อันเป็นตระกูลซามูไรเก่าแก่ที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลมินาโมโตะ (Minamoto clan / 源氏) ซึ่งเคยเป็นตระกูลโชกุนผู้ปกครองแห่งรัฐบาลโชกุนคามากูระ (Kamakura shogunate / 鎌倉幕府) และในเวลาต่อมาตระกูลมัตสึไดระก็เปลี่ยนเป็นตระกูลโทกุงาวะ (Tokugawa clan / 徳川氏) อันเกรียงไกรนั่นเอง

ฮัตโตริ มาซานาริ ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็น “ฮันโซที่ 2” ทำให้เขาถูกเรียกขานและขนานนามว่า “ฮัตโตริ ฮันโซ” นั่นเอง ซึ่งเขาได้ชื่อว่าเป็นซามูไรฝีมือเยี่ยมของตระกูลมะสึกไดระ ในวัยเด็กเขาเป็นคนเฉลียวฉลาดและเก่งฉกาจหาตัวจับยาก เขาสำเร็จวิชานินจาระดับสูงได้ในวัยเพียง 18 ปีเท่านั้น แล้วทั้งพ่อของเขาและตัวเขาเองก็เป็นผู้รับใช้คนสำคัญของ มัตสึไดระ ฮิโรทาดะ (Matsudaira Hirotada / 松平 広忠) ซึ่งต่อมาเขาผู้นี้ก็คือ โทกุงาวะ อิเอยาสุ (Tokugawa Ieyasu /徳川家康) นั่นเอง โดยเป็นกองกำลังสำคัญในการสู้รบกับทัพต่างๆ ตลอดจนพาให้รอดชีวิตจากศัตรูอยู่หลายครั้ง รวมถึงมีส่วนสำคัญในการร่วมกอบกู้ญี่ปุ่นให้กลับมาเป็นปึกแผ่นได้อีกครั้งจนนำมาสู่การสถาปนารัฐบาลโชกุนโทกุงาวะ (Tokugawa shogunate / 徳川幕府) ในที่สุด

ฮัตโตริ ฮันโซ เสียชีวิตในปี ค.ศ.1595 ในวัย 55 ปี โดยเชื่อกันว่าเขาถูกสังหารโดย ฟูมะ โคทาโร่ (Fuma Kotaro / 風魔小太郎) ผู้นำแห่งนินจาสายตระกูลฟูมะ (Fuma clan / 風魔一党) ซึ่งรับใช้ตระกูลโฮโจรุ่นหลัง (Later Hojo clan / 後北条氏) และนั่นก็ทำให้ฟูมะ โคทาโร่กลายมาเป็นอีกหนึ่งนินจาคนสำคัญที่ได้รับการกล่าวขานหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นทันที ซึ่งเหตุการณ์สำคัญนี้เองที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง House of Ninjas (2024) อันเป็นเรื่องของการต่อกรระหว่างทายาทยุคปัจจุบันของตระกูลฟูมะและตระกูลฮัตโตรินั่นเอง

ถึงแม้ชิโนบิจะเริ่มจางหายไปจากสังคมทว่ากระแสของนินจากลับฮิตขึ้นมาแทนและเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลกมากขึ้น แน่นอนว่าการ์ตูนเรื่องสำคัญที่ทำให้เราคิดถึงนินจาเป็นอันดับแรกคงหนีไม่พ้น “นินจาฮาโตริ (Ninja Hattori-kun (忍者ハットリくん)” อันเป็นฝีมือสร้างสรรค์ของปรมาจารย์นักวาดการ์ตูนชาวญี่ปุ่นผู้โด่งดังอย่าง อ.ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ (Fujiko Fujio) ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1964 และถูกนำไปสร้างเป็นการ์ตูนฉายบนทีวีครั้งแรกในปี ค.ศ.1966 ซึ่งทั้งชื่อเรื่องอันเป็นชื่อของตัวเอกตลอดจนพื้นเพของตัวละครหลักนั้นต่างก็ต่อยอดแรงบันดาลใจมาจากฮัตโตริ ฮันโซนั่นเอง นอกจากนี้ก็ยังมีตัวละครชื่อดังที่ได้แรงบันดาลใจมาจากฮัตโตริ ฮันโซอีกมากมาย อาทิ ฮัตโตริ เฮย์จิ ใน ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน, ฮัตโตริ ใน ONE PIECE, ฮันโซ ใน HUNTER X HUNTER, ฮันโซ ใน Naruto (นินจาคาถาโอ้โฮเฮะ) ไปจนถึงระดับสากลอย่างตัวละคร ฮัตโตริ ฮันโซ ช่างตีดาบสุดแกร่งใน Kill Bill: Vol.1 (2003) นั่นเอง

ตามรอยนินจา

กระแสนินจากลายเป็นซอฟท์พาวเวอร์ของญี่ปุ่นที่ฮิตติดลมบนมานานแสนนาน ในญี่ปุ่นเองก็มีเรื่องราวของนินจากระจายตัวอยู่ทั่วประเทศตลอดจนมีแหล่งท่องเที่ยวไปทางประวัติศาสตร์ไปจนถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงสันทนาการเต็มไปหมดด้วยเช่นกัน มาลองแวะไปตามรอยนินจากันดู

แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (Historical Journey)

พิพิธภัณฑ์นินจาสำนักอิกะ (Ninja Museum of Igaryu / 伊賀流忍者博物館): หากอยากจะไปเยือนต้นกำเนิดแห่งนินจาเราขอแนะนำให้แวะไปเที่ยวที่เมืองอิกะ จ.มิเอะ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเมืองแห่งนินจาของญี่ปุ่น แล้วถ้าหากอยากจะแวะไปสัมผัสแก่นแท้ของนินจากันจริงๆ ก็ต้องแวะไปที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วยเช่นกัน ภายในพิพิธภัณฑ์นำเสนอบรรยากาศของบ้านนินจาแบบดั้งเดิมตลอดจนจัดแสดงนิทรรศการความรู้ไปจนถึงข้าวของเครื่องใช้และอุปกรณ์จริงของนินจาในอดีต นอกจากนี้ก็ยังมี Ninja Show เวทีแสดงและสาธิตศาสตร์นินจาในรูปแบบต่างๆ รวมถึงมีร้านจำหน่ายของที่ระลึกเกี่ยวกับต้นตำรับนินจาอีกด้วย

+ ที่ตั้ง: 117-13-1 Ueno Marunouchi, Iga, Mie, Japan

+ เปิด-ปิด: จ.-ศ.10.00-16.00 น. / ส.-อา. (และวันหยุด) 10.00-16.30 น. 

+ ค่าเข้าชม: ผู้ใหญ่ ¥800 / เด็ก ¥500 (ค่าเข้าชม Ninja Show ¥500)

+ เว็บไซต์: https://www.iganinja.jp/?page_id=837

+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/ZsV5UntF2aDVWUa6A

—————–

หมู่บ้านนินจาโคกะ (Koka Ninja Village / 甲賀の里忍術村): นินจาโคกะถือเป็นอีกหนึ่งสำนักนินจาชื่อดังของญี่ปุ่น สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตเมืองโคกะ จ.ชิกะ เป็นหมู่บ้านที่ซ่อนตัวอยู่ในป่าใหญ่ท่ามกลางการโอบล้อมของขุนเขาและถือว่าเป็นจุดกำเนินของศาสตร์นินจาสายตระกูลโคกะเลยทีเดียว ภายในบริเวณนอกจากจะเต็มไปด้วยบ้านญี่ปุ่นโบราณเรียงรายอยู่หลายหลังแล้วก็ยังมีสนามฝึกนินจาตามธรรมชาติแทรกตัวอยู่ภายในหมู่บ้านด้วย นอกจากนี้ภายในหมู่บ้านก็ยังมีพิพิธภัณฑ์นินจาโคกะ (Koka Ninja Museum / 甲賀忍術博物館) จัดแสดงความรู้อยู่ภายในบ้านนินจาจริง ตลอดจน บ้านกล (Karakuri yashiki/ からくり屋敷) อันเป็นบ้านนินจาที่เต็มไปด้วยกลไกลมากมายอย่างที่เห็นเคยเห็นในทีวีและภาพยนตร์ต่างๆ นั่นเอง

+ ที่ตั้ง: 394 Oki, Koka, Koka, Shiga, Japan

+ เปิด-ปิด: ทุกวัน10.00-17.00 น.

+ ค่าเข้าชม: ผู้ใหญ่ ¥2,000 / เด็ก ¥1,500

+ เว็บไซต์: https://koka.ninpou.jp/

+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/4B2NBGj7QbF1kgh79

—————–

เรือนสำนักนินจาโคกะ (Kogaryu Ninja House / 甲賀流忍術屋敷): อีกสถานที่ดังของเมืองโคกะที่เกี่ยวกับข้องกับนินจานี้ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนบ้านโบราณธรรมดาทั่วไปทว่าที่นี่คือที่พักของผู้นำนินจาตระกูลโคกะอย่างโมชิซูกิ อิซุโมโนะคามิ (Mochizuki Izumonokami / 望月氏) ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่บ้านยุคเก่าแก่ดั้งเดิมซึ่งบ้านหลังนี้เพิ่งสร้างขึ้นในยุคเอโดะแต่ภาพในก็เป็นบ้านของนินจาที่แท้จริง โดยเมื่อเข้าไปในบ้านแล้วเราจะได้เห็นการออกแบบกลไกลต่างๆ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์นินจาที่เสมือนเราได้ย้อนไปสัมผัสวิถีนินจาในยุคนั้นกันจริงๆ

+ ที่ตั้ง: 2331 Ryuhoshi, Konan, Koka, Shiga, Japan 

+ เปิด-ปิด: ทุกวัน09.30-17.00 น.

+ ค่าเข้าชม: ผู้ใหญ่ ¥650 / เด็ก ¥450

+ เว็บไซต์: https://www.kouka-ninjya.com/la_en/

+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/J1Fcy2VmR7whAEKVA

—————–

พิพิธภัณฑ์สำนักนินจาโคกะที่แท้จริง (Kogaryu Real Ninja Museum / 甲賀流リアル忍者館): พิพิธภัณฑ์นินจาแห่งนี้ถึงแม้จะจัดแสดงในรูปแบบพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ได้อย่างน่าสนใจแต่เรื่องราว องค์ความรู้ ตลอดจนวัตถุโบราณที่จัดแสดงภายในล้วนแล้วแต่เป็นสมบัติเก่าแก่ของนินจาทั้งสิ้น รวมถึงการศึกษาตำราดั้งเดิมและเอกสารโบราณเพื่อนำเสนอแก่นแท้ของศาสตร์วิชานินจาสายตระกูลโคกะได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน ตลอดจนมีการศึกษาทั้งเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมหลากหลายมิติเพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสถึงแก่นแท้ของนิจาโคกะอย่างแท้จริง

+ ที่ตั้ง: 600 Konancho Ryuboshi, Koka, Shiga, Japan 

+ เปิด-ปิด: 10.00-16.00 น. (หยุดวันจันทร์)

+ ค่าเข้าชม: ฟรี

+ เว็บไซต์: https://www.kouka-ninjya.com/la_en/

+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/8ES9UPHxZKTjxiyL7

—————–

วัดไซเน็น (Sainenji / 西念寺): วัดพุทธแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตชินจูกุ กลางกรุงโตเกียว สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1954  โดย ฮัตโตริ ฮันโซ นินจาชื่อดังเพื่อเป็นอนุสรณ์อุทิศถวายแด่ มัตซึไดระ โนบุยาสึ (Matsudaira Nobuyasu / 松平 信康) เจ้านายในสังกัดผู้เป็นบุตรคนโตของโทกุงาวะ อิเอยาสุ (Tokugawa Ieyasu /徳川家康) นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีสถานะเป็นวัดประจำตระกูลฮัตโตริด้วยซึ่งภายในวัดมีสุสานประจำตระกูลรวมอยู่แล้วก็แน่นอนว่าต้องมีหลุมศพของฮัตโตริ ฮันโซอยู่ที่นี่ด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าที่นี่จะไม่เชิงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวนักแต่สำหรับผู้ที่หลงใหลในวิชานินจาและอยากตามรอยประวัติศาสตร์ให้ถึงแก่นก็มักจะแวะเวียนมาเยือนที่วัดแห่งนี้ด้วยเสมอ

+ ที่ตั้ง: 2-9 Wakaba, Shinjuku, Tokyo, Japan 

+ เปิด-ปิด: ทุกวัน09.00-17.00 น.

+ เว็บไซต์: https://www.yotsuya-sainenji.com/

+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/pLGuG9imWxgqbFfu5

—————–

วัดเมียวริวจิ (Myoryuji / 妙立寺): วัดแห่งนี้ได้ฉายาว่า Ninjadera หรือ “วัดนินจา” ทว่าอันที่จริงแล้ววัดนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับนินจาโดยตรงเลยสักนิดแต่ที่ได้รับฉายานี้มาก็เพราะว่าโครงสร้างภายในอาคารออกแบบไว้อย่างสลับซับซ้อนรวมถึงวางแปลนต่างๆ เพื่อรองรับการซ่อนตัวและหลบหนีได้อย่างแยบยลราวกับบ้านของนินจานั่นเอง วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองคานาซะวะ จ.อิชิกาวะ สร้างขึ้นในยุคเอโดะราวปี ค.ศ.1643 ซึ่งสมัยนั้นมีกฎห้ามสร้างอาคารบ้านเรือนสูงเกิน 3 ชั้น (เพื่อป้องกันการสั่งสมอาวุธและกำลังพล) ทางขุนนาง มาเอดะ โทชิตสึเนะ (Maeda Toshitsune / 前田 利常) ผู้เป็นไดเมียวแห่งตะกูลคากะก็ได้ย้ายวัดเก่ามาสร้างวัดใหม่นี้ขึ้นโดยออกแบบภายในให้สลับซับซ้อนซึ่งดูภายนอกจะเหมือนอาคารไม้ 2 ชั้นทว่าเมื่อเข้าไปภายในจะแบ่งพื้นที่ใช้สอยสลับซับซ้อนและแบ่งชั้นได้ถึง 4 ชั้นเลยทีเดียว (รวมถึงลึกลงไปใต้ดินด้วย) นอกจากนี้ก็ยังออกแบบเส้นทางหลบหนีตลอดจนขุดทางใต้ดินที่เชื่อมออกสู่แม่น้ำบริเวณนั้นได้ด้วย เป็นต้น เพื่อไว้ป้องกันภัยและหลบหนีนั่นเอง

+ ที่ตั้ง: 1-2-12 Nomachi, Kanazawa, Ishikawa, Japan 

+ เปิด-ปิด: ทุกวัน09.00-16.00 น.

+ ค่าเข้าชม: ผู้ใหญ่ ¥1,200 / เด็ก ¥800

+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/ojW7eTLbyfqtEYRKA

—————–

ปราสาทโอดาวาระ (Odawara Castle / 小田原城): โอดาวาระเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิสู้รบสำคัญในอดีต แล้วปราสาทโอดาวาระนี้นอกจากจะเต็มไปด้วยเรื่องราวทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้วที่นี่ยังถือได้ว่าเป็นปราสาทแห่งนักรบญี่ปุ่นเลยทีเดียว ปราสาทโอดาวาระนี้เป็นฉากหลักสำคัญของเรื่อง House of Ninjas เลยก็ว่าได้ซึ่งที่นี่เต็มไปด้วยตำนานนินจาและซามูไรคนสำคัญมากมาย นอกจากที่นี่จะมีโชว์นินจาน่าสนใจแล้วภายในบริเวณปราสาทนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์นินจา (NINJA Hall) และพิพิธภัณฑ์ซามูไร (Tokiwagimon Samurai Museum) ให้เราได้เข้าไปศึกษาประวัติศาสตร์และชมนิทรรศการความรู้ต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ที่นี่ก็ยังมีบริการให้เช่าชุดนินจาและซามูไรเพื่อถ่ายภาพเป็นที่ระลึกด้วย เรียกได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์เพื่อคนรักนินจาที่แท้จริงเลยทีเดียว

+ ที่ตั้ง: Jonai, Odawara, Kanagawa, Japan 

+ เปิด-ปิด: ทุกวัน09.00-17.00 น.

+ ค่าเข้าชม: ปราสาท ¥510 / พิพิธภัณฑ์นินจา ¥310 / พิพิธภัณฑ์ซามูไร ¥200 / บัตรรวมทั้งหมด ¥610

+ เว็บไซต์: https://odawaracastle.com/  

+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/5fyJYsgSvi9CHgeLA

—————–

แหล่งท่องเที่ยวเชิงสันทนาการ (Ninja Experiences)

สวนสนุกเอโดะวันเดอร์แลนด์ ธีมหมู่บ้านโบราณยุคเอโดะแห่งนิกโกะ (Edo Wonderland Nikko Edomura / 江戸ワンダーランド 日光江戸村): สวนสนุกแห่งนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติในย่านท่องเที่ยวคินุกาวะออนเซน (Kinugawa onsen / 鬼怒川温泉) จ.นิกโกะ เป็นสวนสนุกเชิงวัฒนธรรม (Cultural Theme Park) ที่ก่อสร้างเป็นรูปแบบเมืองเก่าจำลองในยุคเอโอะที่เสมือนเดินอยู่ในยุคโบราณจริงๆ (สามารถแต่งตัวย้อนยุคไปเดินในบริเวณนี้ได้ก็จะทำให้อินกับบรรยากาศย้อนยุคมากยิ่งขึ้น) ภายในแบ่งเป็นโซนหมู่บ้านโบราณมากมาย รวมถึงโซน Samurai District และ Ninja Village รวมถึงโซน Edo Wonderland Studio สตูดิโอถ่ายละครและภาพยนตร์ย้อนยุคซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำยอดนิยมอีกด้วย โดยให้เราสามารถสนุกไปพร้อมกับการย้อนอดีตรวมถึงเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์ศาสตร์วิชาการต่อสู้แบบโบราณอันมีเสน่ห์ นอกจากนี้ยังได้ชมการแสดงของนินจาตลอดจนโชว์วัฒนธรรมอื่นๆ อีกด้วย เป็นสวนสนุกที่ให้เราได้ย้อนเวลาไปสัมผัสประสบการณ์วันวานเสมือนจริง

+ ที่ตั้ง:  470-2 Karakura, Nikko, Tochigi, Japan 

+ เปิด-ปิด: ฤดูร้อน (มี.ค.-พ.ย.) 09.00-17.00 น. / ฤดูหนาว (ธ.ค.-มี.ค.) 09.30-16.00 น. (โปรดเช็ควันปิดให้บริการโดยละเอียด ณ เวลาปัจจุบัน บนเว็บไซต์อีกครั้ง)

+ ค่าเข้าชม: ผู้ใหญ่ ¥5,800 / เด็ก ¥3,000

+ เว็บไซต์: https://edowonderland.net/en/

+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/yGZgfGkfGzLdfjHEA

—————–

โทเอะอุซุมาซะ อีกะมูระ สตูดิโอ (Toei Uzumasa Eigamura Studio / 東映太秦映画村) หรือ โทเอะ เกียวโต สตูดิโอพาร์ก (Toei Kyoto Studio Park): ที่นี่คือสตูดิโอถ่ายละครและภาพยนตร์ย้อนยุคของบริษัทอุตสาหกรรมบันเทิงชื่อดังในญี่ปุ่นอย่าง Toei Company ในขณะเดียวกันก็เปิดเป็นสวนสนุกเชิงวัฒนธรรมสไตล์เมืองจำลองย้อนยุคในคราวเดียวกัน ที่นี่จะพาเราย้อนอดีตกลับไปในยุคเอโดะโดยภายในถอดแบบอาคารบ้านเรือนเสมือนจริงมาจากยุคเก่าแบบไม่ผิดเพี้ยน นอกจากนี้ก็ยังมีเครื่องเล่นธีมนินจาอย่าง 3D Maze The Ninja Fort และ Ninja Mystery House ที่ชวนเข้าไปตะลุยในบ้านกลและค้นพบความลับของนินจาผ่านประสบการณ์ตรง รวมถึงร่วมชมโชว์สุดพิเศษอย่าง The Highway of the Ninja ณ โรงละคร Nakamuraza Theater ซึ่งเป็นโชว์นินจาที่ทางสตูดิโอสร้างสรรค์แบบฉบับออริจินอลขึ้นเป็นพิเศษด้วย

+ ที่ตั้ง: 10 Uzumasa Higashihachioka, Ukyo, Kyoto, Japan 

+ เปิด-ปิด: 10.00-17.00 น. (โปรดเช็ควันและเวลา เปิด-ปิด ในวันที่จะไปใช้บริการโดยละเอียดบนเว็บไซต์อีกครั้ง)

+ ค่าเข้าชม: ผู้ใหญ่ ¥2,400 / เด็ก ¥1,200-1,400 (ไม่รวมบัตรเครื่องเล่นต่างๆ)

+ เว็บไซต์: https://global.toei-eigamura.com/

+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/4NL7KsrpdtarCwUU8

—————–

อาณาจักรนินจาแห่งอิเซะ (NINJA KINGDOM ISE/ 伊勢忍者キングダム): อาณาจักรแห่งนี้เป็นสวนสนุกเชิงวัฒนธรรมอันเป็นเมืองโบราณจำลองในสมัยเซ็นโกคุช่วงปลายยุคมุโรมาจิที่มีการชิงอำนาจกันอย่างมากมาย แล้วฉากหลังของเมืองก็คือปราสาทอะซูชิ (Azuchi Castle / 安土城) อันงดงามตระหง่ายที่จำลองถอดแบบเสมือนจริงมาจากปราสาทดั้งเดิมยุคโบราณ ภายในอาณาจักรนี้เต็มไปด้วยโลกของนินจาให้เราได้สัมผัสและสนุกกับกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ พิพิธภัณฑ์นินจา, บ้านกลนินจา, ตลอดจนการแสดงนินจาที่น่าสนใจมากมาย

+ ที่ตั้ง: 1201-1 Mitsu, Futami, Ise, Mie, Japan   

+ เปิด-ปิด: ทุกวัน09.00-17.00 น.

+ ค่าเข้าชม: บัตรผ่านประตู > ผู้ใหญ่ ¥1,500 / เด็ก ¥800-1,000 บัตรรวมกิจกรรมทุกอย่าง > ผู้ใหญ่ ¥4,900 / เด็ก ¥3,000-3,500

+ เว็บไซต์: https://www.ise-jokamachi.jp/

+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/xAx6kQdAiDfYFArWA

—————–

พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ประสบการณ์ซามูไรและนินจาแห่งโตเกียว (SAMURAI NINJA MUSEUM TOKYO With Experience): พิพิธภัณฑ์แห่งนักรบแห่งล่าสุดนี้เพิ่งจะเปิดตัวเมื่อปี 2023 ในย่านอาซากุซะ ใจกลางกรุงโตเกียว จัดแสดงนิทรรศการนักรบญี่ปุ่นโบราณอันโด่งดังอย่างซามูไรและนินจาในรูปแบบทันสมัยได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายไปจนถึงอาวุธที่ให้เราได้เห็นภาพในอดีตได้อย่างชัดเจน ตลอดจนมีการแสดงสาธิตการต่อสู้ด้วยดาบซามูไรไปจนถึงการแสดงนินจาให้ได้ชมกันด้วย นอกจากนี้ยังเปิดกิจกรรมพิเศษให้ทุกคนได้ร่วมฝึกฝนทักษะการต่อสู้ตลอดจนสนุกกับประสบการณ์ต่างๆ ทั้งในศาสตร์นินจาและศาสตร์ซามูไรกันอย่างถึงแก่นแท้เลยทีเดียว

+ ที่ตั้ง: 1-8-13, Nishi-Asakusa, Taito, Tokyo, Japan   

+ เปิด-ปิด: ทุกวัน09.00-18.30 น.

+ ค่าเข้าชม: บัตรผ่านประตู > ผู้ใหญ่ ¥2,700 / เด็ก ¥2,400 (ไม่รวมค่าเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษ)

+ เว็บไซต์: https://mai-ko.com/samurai/tokyo.html

+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/jwx983CaPfDE2iWK8

—————–

ฝึกฝนวิชานินจาและซามูไรพร้อมท่องปราสาทโอดาวาะ (Ninja, Samurai, and Castel Experience in Odawara): โอดาวาะถือเป็นเมืองซามูไรและนินจาที่โด่งดัง ที่นี่มีกิจกรรมและคอร์สสำหรับนินจามากมายรวมถึงคอร์สนี้ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากการท่องเที่ยวญี่ปุ่นด้วย ในคอร์สนี้นอกจากจะได้ลองฝึกฝนการเป็นนินจาและซามูไรแล้วก็ยังมีผู้เชี่ยวชาญนำชมปราสาทอย่างทะลุปรุโปร่งและเจาข้อมูลลึกซึ้งถึงแก่น

+ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://www.odawara-guide.com/samurai_ninja_tour/

—————–

การแสดงสด (Live Show)

Shinjuku Ninja Live Show: โชว์นินจาอันตื่นตาอลังการนี้เพิ่งจะเปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคม 2024 เป็นการแสดงวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ผสมผสานศิลปะการต่อสู้แบบโบราณเข้ากับการออกแบบศิลปะการแสดงยุคใหม่ประกอบแสงสีเสียงและเทคโนโลยีล้ำสมัย สร้างสรรค์การแสดงโดย Japan Ninja Council (JNC) ซึ่งเป็นสมาคมนินจาเพียงหนึ่งเดียวที่รัฐบาลและการปกครองส่วนท้องถิ่นให้การสนับสนุนอย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมส่งเสริมวัฒนธรรมญี่ปุ่นและศาสตร์นินจาให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกตลอดจนส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวไปพร้อมกันด้วย กำกับการแสดงโดย เด็นจิโร่ ทานากะ (Denjiro Tanaka) นักดนตรีละครคาบูกิผู้โด่งดัง

+ สถานที่แสดง: Warp Shinjuku 1-21-1-B1, Kabukicho, Shinjuku, Tokyo, Japan

+ รอบการแสดง: 3 รอบ/วัน (รอบที่ 1: 12.00-13.30 น. / รอบที่ 2: 15.00-16.30 น. / รอบที่ 3: 18.00-19.30 น.)

+ ค่าเข้าชม: ¥8,000

+ เว็บไซต์: https://shinjukuninjaliveshow.com/

+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/kESKsnBEiTubaH4M8

นินจาในโลกยุคปัจจุบัน

ทุกวันนี้เรายังคงเห็นนินจาปรากฏตัวอยู่ในสังคมเต็มไปหมด ทั้งในรูปแบบการ์ตูน มาสคอต ภาพยนตร์ ฟิกเกอร์ หรือแม้แต่ข้าวของเครื่องใช้หลากหลายแบบ แน่นอนว่านี่คืออีกหนึ่งสุดยอดไอคอนิกที่เป็นซอฟท์พาวเวอร์ของญี่ปุ่น

ขณะเดียวกันเราก็ยังเห็นแหล่งท่องเที่ยวเกี่ยวกับนินจาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และยังคงมีผู้คนแวะเวียนไปอยู่เสมอ อีกด้านเราต่างก็เห็นคนทั่วโลกหันมาให้ความสนใจในการฝึกวิชานินจาแบบจริงจังเช่นกัน รวมถึงกลายเป็นเทรนด์ฮิตในการฝึกฝนพละกำลังให้แข็งแกร่งและมีวิถีแน่วแน่ดั่งนินจา การต่อยอดสู่วิถีในยุคปัจจุบันรูปแบบนี้ส่วนหนึ่งคงต้องขอบคุณรายการสำคัญอย่าง SASUKE (サスケ) ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ.1997 และถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นรากาย Ninja Warrior ในเวอร์ชั่นอเมริกาที่ฮิตติดลมบนมานานนับทศวรรษและยังคงท้าทายความแข็งแกร่งแบบวิถีนินจามาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้พวกเขาอาจไม่ได้ใส่ชุดสีดำอย่างที่เราคุ้นเคย แต่ก็สามารถสัมผัสถึงจิตวิญญาณวิถีนินจาได้อย่างแท้จริง

ย้อนไปคำถามที่ว่า “แล้วทุกวันนี้ยังคงมีนินจาแฝงกายอยู่รอบตัวเราหรือไม่?” อ่านมาถึงตรงนี้แล้วถ้าจะบอกว่ามีก็คงไม่ใช่คำตอบที่ผิด แต่จะมีในรูปแบบใดเท่านั้นเอง แต่ถ้าให้ตอบถึงนินจาที่เป็นนักรบโบราณอย่างแท้จริงนั้น ทุกวันนี้ก็ยังคงหาคำตอบชัดเจนไม่ได้ในตอนนี้ เพราะนักรบเงาก็ยังคงต้องเป็นนักรบเงาอยู่วันยังค่ำ แล้วก็ดูเหมือนว่าการต่อสู้แบบไร้ตัวตนจะจำเป็นสำหรับยุคปัจจุบันยิ่งกว่ายุคอดีตด้วยซ้ำ นินจาในยุคปัจจุบันอาจจะไม่ได้มาในรูปแบบชุดดำมิดชิดเหมือนในหนังที่เราคุ้นเคย เขาอาจแฝงตัวกลมกลืนกับเราทุกคนเหมือนอย่างในซีรีส์ดังนำเสนอก็เป็นได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วตำนานนักรบเงานี้ก็จะยังคงอยู่สืบไป และนินจาในภาพจำของทุกคนก็ยังคงอยู่ในความทรงจำบนโลกนี้ตลอดไปเช่นกัน

+++++++++++

อ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Ninja

https://en.wikipedia.org/wiki/Nippo_Jisho

https://www.dictionary.com/e/ian-fleming-ninja

https://www.dictionary.com/e/a-look-at-the-word-ninja

https://www.japan-guide.com/e/e2295.html

https://global.toei-eigamura.com

https://www.ise-jokamachi.jp/en/about-2

Total
0
Shares