dark mode light mode Search
Search

สยองขวัญแบบญี่ปุ่น ทำความรู้จัก “โยไค” สิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติในวัฒนธรรมญี่ปุ่น

เมื่อพูดถึงคำว่า “โยไค” (妖怪) สำหรับคนที่ชื่นชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่น คำนี้คงไม่ใช่คำแปลกใหม่ เพราะโยไคถือเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมและความเชื่อของญี่ปุ่นที่สืบทอดกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี โยไคคือสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติที่ผูกพันกับธรรมชาติ ความเชื่อ และจินตนาการของผู้คน

โยไคไม่ได้เป็นเพียง “ผี” หรือ “ปีศาจ” อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่โยไคถูกแบ่งแยกย่อยออกไปมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งตามรูปร่าง พลังพิเศษ สายพันธุ์ โยไคสามารถเป็นได้ทั้งสัตว์ ยักษ์ หรือแม้กระทั่งสิ่งของ วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับโยไคและแนะนำสถานที่เที่ยวญี่ปุ่นที่เปิดโอกาสให้ได้สัมผัสกับโยไคกัน

ต้นกำเนิดของโยไค

คำว่า “โยไค” ประกอบด้วยตัวอักษรสองตัว ได้แก่ “妖” (โย) หมายถึงสิ่งลี้ลับ หรือสิ่งเหนือธรรมชาติ และ “怪” (ไค) หมายถึงความประหลาดใจ เมื่อรวมกันแล้วจึงหมายถึงสิ่งลี้ลับที่แปลกประหลาด ต้นกำเนิดของโยไคนั้นสามารถย้อนกลับไปถึงยุคโบราณของญี่ปุ่น ซึ่งปกติอยู่แล้วที่คนในโบราณจะมองว่าธรรมชาติมีพลังวิเศษ และสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยความรู้ที่ยังจำกัด ก็มักจะถูกตีความว่าเป็นการกระทำของสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติ

ในสมัยเฮอัน เรื่องเล่าเกี่ยวกับโยไคก็เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นด้วยการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเรื่องราวของโยไคปรากฏอยู่ในวรรณกรรมโบราณ เช่น โคจิกิ และ นิฮงโชกิ ซึ่งบันทึกเรื่องราวของเทพเจ้าและปรากฏการณ์แปลกประหลาดที่ผู้คนในยุคนั้นไม่สามารถหาคำตอบได้

เมื่อเข้าสู่ยุคกลางของญี่ปุ่นอย่างสมัยมุโรมาจิ การนำเสนอโยไคได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด จากความเชื่อและเรื่องเล่าที่เคยถ่ายทอดปากต่อปาก โยไคเริ่มมีรูปลักษณ์ที่ชัดเจนผ่านงานศิลปะพื้นบ้าน ซึ่งมีการสร้างสรรค์ผลงานอย่าง “ขบวนร้อยปีศาจ” (百鬼夜行絵巻) ซึ่งนำเสนอโยไคในมุมมองใหม่ โยไคไม่ได้ถูกวาดให้ดูลึกลับน่ากลัวเหมือนเดิม แต่กลับมีลักษณะน่ารักไร้เดียงสา ดึงดูดความสนใจมากขึ้น ซึ่งในภาพวาดเหล่านี้ โยไคมักจะเป็นฝ่ายเข้าหามนุษย์ก่อน โดยเฉพาะมนุษย์ที่อ่อนแอหรือต้องการความช่วยเหลือ การนำเสนอเช่นนี้สะท้อนถึงมุมมองที่อ่อนโยนขึ้นต่อโยไคในยุคนั้น

เมื่อเข้าสู่สมัยเอโดะ เรื่องเล่าเกี่ยวกับโยไคได้กลายเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่คนทั่วไป เริ่มมีกิจกรรมกลุ่มอย่างการเล่าเรื่องผี 100 เรื่อง ซึ่งผู้คนจะมารวมตัวกันเพื่อเล่าเรื่องลึกลับและเรื่องเล่าตำนานเกี่ยวกับโยไค และในยุคนี้ยังมีการดัดแปลงวรรณกรรมจีน รวมถึงการผสมผสานเรื่องเล่าพื้นบ้านและตำนานต่างๆ จนเกิดเป็นผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบของหนังสือและภาพวาด ซึ่งช่วยเสริมสร้างความนิยมของโยไคในวัฒนธรรมยุคนั้น

โยไคที่เป็นที่รู้จัก

เราเชื่อว่าทุกคนต้องรู้จักโยไคอย่างน้อยหนึ่งตัวแน่นอน มาเรียนรู้ตำนานของโยไคที่เป็นที่รู้จักกันเถอะ

เริ่มที่โยไคที่ทุกคนน่าจะรู้จักกันดีอย่าง “กัปปะ” โยไคที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ มีรูปร่างคล้ายมนุษย์ แต่ก็มีบางส่วนที่คล้ายเต่า เพราะกัปปะมีกระดองคล้ายเต่าและมือเท้าของพวกเขามีพังผืด หัวของกัปปะมีลักษณะพิเศษคล้ายกับจาน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของมัน หากน้ำในจานนี้แห้งลง กัปปะจะอ่อนแอทันที

กัปปะมีชื่อเสียงในฐานะตัวแสบที่ชอบแกล้งคน โดยเฉพาะเด็กและนักเดินทางที่ใกล้กับแหล่งน้ำโดยการลากลงไปให้จมน้ำ คนญี่ปุ่นมักเล่าเรื่องกัปปะเพื่อเตือนเด็กไม่ให้เล่นใกล้น้ำลำธารเพราะเป็นอันตรายนั่นเอง แต่กัปปะยังมีด้านที่เป็นมิตร หากมนุษย์มอบแตงกวาที่เป็นอาหารจานโปรดของกัปปะ หรือช่วยเติมน้ำในจานบนหัว ก็อาจได้รับสิ่งตอบแทนเป็นความช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือความรู้เกี่ยวกับยา

มาต่อกันที่โยไคที่น่ากลัวขึ้นมาอย่าง “เท็งงู” โยไคที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์แต่ก็คุณลักษณะของนกผสมอยู่ด้วย เพราะปีกใหญ่และจงอยปาก (หรือที่หลายคนเรียกกันว่าจมูก) เท็งงุมักสวมเสื้อคลุมสีแดงและถือพัดขนนก ในสมัยโบราณ เท็งงูถูกมองว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ชอบหลอกผู้คนหรือก่อกวนหมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม ในยุคหลัง เท็งงูถูกเชื่อกันว่าเป็นผู้พิทักษ์ป่าไม้และภูเขา ซึ่งภูเขาคุรามะในเกียวโต ถือเป็นสถานที่ที่เชื่อว่าเป็นถิ่นฐานของเท็งงู และมีการจัดเทศกาลเพื่อเท็งงูด้วย

สุดท้ายนี้คือ “สาวปากฉีก” หรือ “คุจิซาเกะอนนะ” เป็นโยไคสมัยใหม่ที่เพิ่งมีขึ้นมาในยุคโชวะ แต่ก็โด่งดังมากจนถึงกับมีภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องของเธอ สาวปากฉีกทมีรูปลักษณ์น่ากลัว ด้วยรอยแผลยาวตั้งแต่มุมปากทั้งสองข้างจนถึงแก้ม เธอมักจะปิดหน้าด้วยหน้ากากหรือผ้าพันคอ และถามผู้คนที่เดินผ่านไปมาในยามค่ำคืนว่า “ฉันสวยไหม” หากมีใครตอบว่า “ใช่” ขึ้นมา เธอจะถอดหน้ากากออก เผยให้เห็นปากที่ฉีกกว้าง และถามอีกครั้ง ตำนานยังระบุวิธีหนีเธอด้วย เช่น การตอบว่า “ก็เฉย ๆ” หรือการให้ลูกอมเธอเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ

บทบาทของโยไคในวัฒนธรรมญี่ปุ่น

โยไคไม่ได้มีบทบาทเฉพาะในตำนานพื้นบ้านเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลในด้านศิลปะ วรรณกรรม และสื่อบันเทิงของญี่ปุ่น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ภาพวาดของโยไคในยุคเอโดะ จนถึงในปัจจุบัน โยไคยังคงเป็นที่นิยมผ่านสื่อบันเทิง เช่น มังงะ อนิเมะ และภาพยนตร์ ตัวอย่างเช่น Yokai Watch หรือ Gegege no Kitaro ซึ่งเป็นผลงานคลาสสิกที่รู้จักกันทั่วโลก

นอกจากนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายที่นำเอาโยไคมาเป็นไฮไลต์ สำหรับใครที่กำลังมองหาที่เที่ยวญี่ปุ่นที่สามาถสัมผัสวัฒนธรรมโยไคอย่างลึกซึ้งเราก็มีมาแนะนำด้วยนะ

เริ่มกันที่ ”Mizuki Shigeru Museum“ และ “Mizuki Shigeru Road” ในจังหวัดทตโทริ สถานที่นี้คนรักโยไคและแฟนผลงานของ Mizuki Shigeru นักวาดมังงะชื่อดังที่เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานเรื่อง Gegege no Kitaro พลาดไม่ได้เลยทีเดียว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะพาเราไปสัมผัสกับโลกของโยไค และยังมีถนนที่ถูกสร้างขึ้นมาพิเศษที่เต็มไปด้วยรูปปั้นของโยไคหลักร้อยตัวที่ปรากฏในผลงานของเขา

สำหรับคนรักศิลปะ เราก็อยากแนะนำ “Yokai Art Museum” บนเกาะโชโดชิมะ จังหวะคากาวะ ที่รวบรวมผลงานศิลปะเกี่ยวกับโยไคไว้กว่า 800 ชิ้นด้วยกัน หรือจะเป็น “Yokai Yashiki” จังหวัดฮิโรชิมะ เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กที่รวบรวมเรื่องราวและภาพวาดเกี่ยวกับโยไคจากทั่วญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการวาดภาพหน้ากากโยไค

สุดท้ายนี้ถ้าใครมีโอกาสได้มาเที่ยวในช่วงเดือนตุลาคม เพราะวันเสาร์ที่ 3 ของเดือนตุลาคมในทุกปี Taishogun Street ในจังหวัดเกียวโตจะมีการจัดงานพาเหรด Ichijo Hyakki Yakou ขึ้น ผู้คนจะแต่งตัวในชุดโยไคแบบต่าง ๆ ทั้งดั้งเดิมและร่วมสมัยมาให้เราได้สัมผัสและถ่ายรูปอย่างใกล้ชิด

เรียนรู้มุมมองของคนญี่ปุ่นผ่านโยไค

แม้ว่าโยไคจะดูเหมือนสิ่งที่เกี่ยวข้องกับอดีต แต่ในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน โยไคยังคงสะท้อนถึงความเชื่อและมุมมองของคนต่อธรรมชาติและสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ โยไคไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ของจินตนาการและความสร้างสรรค์ แต่ยังช่วยให้คนในยุคปัจจุบันเข้าใจวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะมีมุมมองแบบไหนต่อโยไค น่ากลัว น่ารัก หรือแปลกประหลาด โยไคก็เป็นภาพสะท้อนของความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้วัฒนธรรมญี่ปุ่นมีเสน่ห์และเป็นที่สนใจของผู้คนทั่วโลก

อ้างอิง

https://www.nichibun.ac.jp/YoukaiGazou

https://intojapanwaraku.com/rock/art-rock/1502/#toc-2

http://kyoto-taisyogun.com/en/yokai-events/

ภาพ

https://www.nichibun.ac.jp

Total
0
Shares