dark mode light mode Search
Search

เมื่อนักชงชาญี่ปุ่นเล่าถึงเสน่ห์ของพิธีชงชา

ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะมองไปทางไหนในกรุงเทพฯ คาเฟ่มัทฉะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ แบบไม่หยุด เราเชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นคาเฟ่ที่มีการชงมัทฉะต่อหน้าลูกค้าหรือคาเฟ่ที่ชงมัทฉะให้เรารับชมกันผ่านอินสตาแกรมและเกิดความสนใจในพิธีชงชา สำหรับชาวไทยที่รักมัทฉะ เราขอแนะนำให้ทุกคนได้ลองสัมผัสประสบการณ์ของ “พิธีชงชา” วัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่ไม่ใช่เพียงการดื่มชา แต่เป็นการจับมือพาแขกผู้มาเยือนเข้าสู่โลกแห่งความเรียบง่ายและสุนทรียภาพที่ลึกซึ้งของผงชาไปด้วยกัน

เมื่อได้ลองสัมผัสความเรียบง่ายอ่อนช้อยของพิธีชงชาแล้ว การดื่มมัทฉะครั้งหน้าอาจมีความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล ครั้งนี้เราได้พูดคุยกับคุณ Yuki นักชงชาญี่ปุ่น เกี่ยวกับความเป็นมาของมัทฉะในญี่ปุ่นและความหมายของพิธีชงชาในวัฒนธรรมญี่ปุ่น มาทำความรู้จักกับพิธีชงชาให้มากขึ้นด้วยกันได้เลย

Photo: https://www.instagram.com/ukiukichachacha/

Q: มัทฉะเริ่มเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นตั้งแต่เมื่อไหร่?

มัทฉะเริ่มแพร่หลายในญี่ปุ่นประมาณปี ค.ศ.1191 โดยได้รับอิทธิพลมาจากจีน ซึ่งในขณะนั้นทั้งมัทฉะและวิธีดื่มล้วนถูกนำเข้ามาจากจีนทั้งสิ้น แต่ในปัจจุบันในจีนกลับไม่มีวัฒนธรรมการดื่มมัทฉะมากนัก

Q: ทำไมการดื่มมัทฉะในจีนถึงได้เลือนหายไป?

ในจีนมีชาประเภทอื่นที่การผลิตและการชงที่ง่ายกว่ามัทฉะ ซึ่งการผลิตและเตรียมมัทฉะนั้นมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ทำให้ความนิยมค่อน ๆ เลือนหายไปจากจีน ในขณะที่ในญี่ปุ่น Eizai นักบวชนิกายเซนได้นำมัทฉะกลับมาจากจีนและแนะนำให้กับนักบวชในญี่ปุ่น ที่ญี่ปุ่นจึงเริ่มมีการดื่มมัทฉะในหมู่นักบวช

Q: ในช่วงแรก มัทฉะเป็นเครื่องดื่มของชนชั้นสูงใช่ไหม?

ใช่แล้ว ในช่วงที่มัทฉะเข้ามาในญี่ปุ่นแรก ๆ มัทฉะเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นนักบวชและชนชั้นขุนนาง ต่อมาจึงเริ่มเผยแพร่ในหมู่ชนชั้นทั่วไปในศตวรรษที่ 14 หรือยุคของ Ashikaga Yoshimitsu

Q: ทำไมมัทฉะถึงถูกมองว่าเป็นเครื่องดื่มพิเศษ?

เพราะการผลิตมัทฉะต้องใช้เวลาและความประณีต และในขั้นตอนผลิตนั้นสามารถผลิตออกมาได้แค่ปริมาณน้อยนิดเท่านั้น จึงทำให้มัทฉะมีราคาแพง เปรียบเสมือน “คาเวียร์” ในปัจจุบันที่คนธรรมดาเข้าถึงได้ยาก

Photo: https://www.instagram.com/ukiukichachacha/

Q: แล้วทำไมในญี่ปุ่น วัฒนธรรมการดื่มมัทฉะถึงยังคงอยู่?

เพราะมัทฉะในญี่ปุ่นเชื่อมโยงกับความคิดทางจิตวิญญาณและปรัชญา ซึ่งพัฒนาเป็น “พิธีชงชา” ที่เน้นการสะท้อนตัวตนและจิตใจที่สงบ ทำให้วัฒนธรรมนี้ยังคงอยู่ในทุกที่ทั่วญี่ปุ่น

Q: บุคคลที่สำคัญในพิธีชงชาคือใคร?

ถ้าบุคคลสำคัญของพิธีชงชาคือ Sen no Rikyu ซึ่งเป็นผู้ที่พัฒนาพิธีชงชาให้มีมิติทางจิตวิญญาณและปรัชญาที่ลึกซึ้งขึ้น เขาเน้นความเรียบง่ายและใส่ความ “วาบิซาบิ” ซึ่งเป็นการมองเห็นความงามในความไม่สมบูรณ์แบบลงไปในพิธีชงชาด้วย

Q: ทำไม Sen no Rikyu ถึงพัฒนาความคิดเรื่อง “วาบิซาบิ” ในพิธีชงชา?

เพราะเขาเชื่อว่าความสวยงามนั้นคือความเรียบง่ายและความสงบ การมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งเรารู้กันดีว่าเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมญี่ปุ่นเลย

Q: การมองพิธีชงชาเปลี่ยนไปตามยุคสมัยหรือไม่?

ใช่แล้ว บทบาทของพิธีชงชาได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ยกตัวอย่างเช่น ในยุคซามูไร พิธีชงชาเคยถูกใช้เป็นการเตรียมจิตใจให้สงบก่อนการต่อสู้ เนื่องจากเป็นยุคที่ใช้การชีวิตนั้นเต็มไปด้วยความเสี่ยง พิธีชงชาจึงมีบทบาทสำคัญในการทำให้จิตใจสงบ

Q: พิธีชงชาเป็นการช่วยให้สงบใจ นอกจากนี้ยังมีบทบาทอื่นอีกไหม?

ห้องชงชานั้นมีพื้นที่จำกัด สามารถจุคนได้ไม่มาก เมื่อคนมานั่งรวมกันอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ จึงสามารถช่วยให้เห็นจิตใจของอีกฝ่ายได้ชัดเจน พิธีชงชาก็เลยถูกใช้เป็นช่วงเวลาที่สร้างความไว้วางใจระหว่างกันได้ หรือก็คือดื่มชาทำให้เราเข้าใจถึงจิตใจของอีกฝ่ายได้นั่นเอง

Photo: https://www.instagram.com/ukiukichachacha/

Q: แล้วพิธีชงชาในยุคปัจจุบันล่ะ? มันยังคงมีบทบาทอะไรในยุคนี้หรือไม่?

ในปัจจุบัน พิธีชงชายังดำเนินต่อไปในเส้นทางของการพัฒนาจิตใจและสุนทรียภาพ รวมทั้งใช้เป็นส่วนหนึ่งของการสอนมารยาทและสมาธิ โดยเฉพาะหลังยุคเมจิ พิธีชงชานั้นถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝนสำหรับผู้ที่กำลังจะเป็นเจ้าสาวด้วย

Q: วิธีการมองพิธีชงชามีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยนั้นน่าสนใจมากทีเดียว

ใช่ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป บทบาทและความหมายของพิธีชงชาก็เปลี่ยนตามความต้องการของแต่ละยุคสมัย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน พิธีชงชาถูกถือว่าเป็นวิธีที่ช่วยสร้างความสมบูรณ์ของจิตใจและสร้างความตั้งใจที่จะต้อนรับแขกผู้มาเยือน ในยุคนี้ที่มีหลายสิ่งที่ต้องทำและถูกขับเคลื่อนไปด้วยความเร่งรีบ พิธีชงชาจึงกลายเป็นสถานที่ที่ให้ความสงบใจ เป็นเสมือนโอเอซิสให้ใจได้หยุดพัก

Q: มีคนเริ่มสนใจพิธีชงชาเพราะต้องการฝึกใจให้สงบหรือไม่?

ใช่แล้ว หนึ่งในเสน่ห์ของพิธีชงชาคือการที่ผู้เข้าร่วมสามารถลืมสถานะทางสังคมหรือยศถาบรรดาศักดิ์ของตนเองไปชั่วคราว ยกตัวอย่างเช่น ในบริษัทบางคนอาจมีตำแหน่งเป็นประธานหรือหัวหน้า แต่เมื่อเข้าสู่ห้องชงชา ตำแหน่งเหล่านั้นจะไม่มีความหมายใด ๆ เลย ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และทุกคนสามารถสัมผัสประสบการณ์นี้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าได้โดยไม่แบ่งแยกอายุ ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือสัญชาติ

Q: พิธีชงชาสร้างบรรยากาศที่ไม่แบ่งแยกผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าคืออะไร ช่วยอธิบายเพิ่มเติมได้ไหม?

เมื่อเข้าสู่ห้องชงชา กลิ่น เสียง ภาพ และสัมผัสจะกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า โดยไม่มีสถานะหรือยศถาบรรดาศักดิ์มาเกี่ยวข้องเลย ทุกคนจะได้สัมผัสถึงช่วงเวลานั้นในแบบเรียบง่ายและเป็นกันเอง โดยไม่ต้องอาศัยความรู้หรือประสบการณ์ ทุกคนสามารถเพลิดเพลินกับบรรยากาศอันแสนสงบนี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน

Q: คนญี่ปุ่นดูเหมือนจะมีแนวโน้มที่จะมองหาจิตวิญญาณในทุกสิ่ง แบบเดียวกับพิธีชงชา

ใช่ สำหรับคนญี่ปุ่นแล้วไม่ได้มีแค่พิธีชงชาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงยูโด เคนโด และศิลปะการต่อสู้อื่น ๆ ทุกอย่างมีวัฒนธรรมทางจิตวิญญาณของญี่ปุ่นอยู่ในตัว อาจจะเพราะได้รับอิทธิพลจากนิกายเซนที่เชื่อในการพัฒนาตัวเองผ่านการกระทำในชีวิตประจำวัน เราสามารถเห็นได้จากการที่คนญี่ปุ่นเวลาทำงาน พวกเขาจะเน้นไปที่การทำงานอย่างละเอียดในทุกขั้นตอนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี ในขณะที่บางประเทศอาจจะมองแค่ผลลัพธ์เท่านั้น

ญี่ปุ่นอาจถูกมองว่าไม่มีศาสนาใดเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริง ศาสนาและปรัชญาต่างๆ ได้ฝังรากลึกอยู่ในชีวิตประจำวันแล้วเรียบร้อย

Photo: https://www.instagram.com/ukiukichachacha/

Q: การเข้าร่วมพิธีชงชาทำให้หลายคนรู้สึกว่ามีความเป็นพิธีการมากเกินจนเข้าใจยากหรือไม่?

ใช่ สำหรับผู้ที่เข้าร่วมพิธีชงชาเป็นครั้งแรกนั้นอาจจะรู้สึกว่าพิธีชงชาเข้าถึงยาก เข้าใจยาก แต่อย่างไรก็ตาม เราควรรักษาความพิเศษของพิธีชงชาไว้เป็นประสบการณ์พิเศษที่หาไม่ได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป หากพิธีชงชาทำให้ทุกคนเข้าร่วมได้ง่ายเกินไป เช่น ใส่เสื้อผ้าลำลองหรือรองเท้าแตะ แต่งตัวตามใจชอบมาเข้าร่วมได้ ก็อาจทำให้รู้สึกเหมือนมากินพาร์เฟ่ต์มัทฉะในคาเฟ่มากกว่า

พิธีการและกิริยาท่าทางในพิธีชงชานั้นมีความหมายที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน ซึ่งแต่ละสิ่งถือเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างจากชีวิตประจำวัน ดังนั้นเราคิดว่าควรคงความเป็นพิธีการไว้บ้างก็จะดี

Q: ถ้ามีคนสนใจเข้าร่วมพิธีชงชาหลังจากอ่านบทความนี้ ต้องเริ่มจากตรงไหน?

การเข้าร่วมพิธีชงชานั้นสามารถเริ่มได้เลยไม่ว่าจะมีประสบการณ์มาก่อนหรือไม่ สิ่งสำคัญคือการเปิดใจและทำความเข้าใจในเรื่องของจิตวิญญาณของพิธีชงชา เราอยากให้ทุกคนลืมยศฐาบรรดาศักดิ์ของตัวเอง หรือรูปลักษณ์ภายนอก แล้วสนุกกับประสบการณ์ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าในห้องชงชา

คำว่า “ความเคารพ” อาจจะฟังดูแรงไปหน่อย แต่ถ้าสามารถเข้าร่วมด้วยจิตใจที่ให้ความเคารพ ก็น่าจะดี สำหรับคนไทย อาจเปรียบเสมือนกับการไปวัด เช่น เมื่อเราไปวัดก็ต้องการหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อแขนกุดหรือกางเกงขาสั้น แต่งตัวให้ถูกกาละเทศะ พิธีชงชาก็เช่นเดียวกัน เพราะห้องชงชาถือเป็นสถานที่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ควรเข้าใจว่าพิธีชงชาไม่ได้เป็นเพียงแค่ความบันเทิง แต่เป็นสถานที่ที่เน้นการให้คุณค่าด้านจิตวิญญาณด้วย

Q: มีปัญหาอะไรบ้างเมื่อมีชาวต่างชาติเข้าร่วมพิธีชงชา?

เคยมีอยู่ เช่น บางคนอาจคาดหวังแค่มาดื่มมัทฉะ เมื่อความคาดหวังเป็นแบบนั้น ส่วนที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณของพิธีชงชาอาจไม่ได้รับการสื่อสารออกไป ทำให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน แน่นอนว่าการได้สนุกกับมัทฉะเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าสามารถสัมผัสถึงวัฒนธรรมและจิตวิญญาณที่อยู่เบื้องหลังพิธีชงชาได้ก็จะทำให้ประสบการณ์พิธีชงชาลึกซึ้งยิ่งขึ้น

Photo: https://www.instagram.com/ukiukichachacha/

Q: อยากให้คนแบบไหนได้สัมผัสพิธีชงชาบ้าง?

คนที่ชอบมัทฉะและสนใจในวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบลึกซึ้งก็น่าจะชอบพิธีงชา โดยเฉพาะคนที่มีความอยากรู้อยากเห็นและต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพราะพิธีชงชาไม่ได้เป็นแค่การดื่มชา พิธีชงชานั้นต้องการการเรียนรู้และการค้นพบมากมาย

Q: สำหรับคนที่สนใจพิธีชงชาหลังจากอ่านบทความนี้ ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

ไม่จำเป็นต้องเตรียมอะไรเป็นพิเศษเลย ทุกคนสามารถเข้าร่วมพิธีชงชาได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องมีประสบการณ์ก็ได้ แค่เดินทางมาด้วยหัวใจที่เปิดรับ ซึมซับบรรยากาศและจิตวิญญาณของพิธีชงชา เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

Q: การสัมผัสพิธีชงชาเหมือนการเดินทางเพื่อค้นหาความเป็นตนเอง เป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจใช่ไหม

ใช่ครับ การสัมผัสประสบการณ์ของพิธีชงชาเพื่อค้นหาตนเองนั้นช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น การเข้าร่วมพิธีชงชาไม่ต้องมีการเตรียมตัวพิเศษ แค่เพียงมาด้วยความตั้งใจและเปิดรับประสบการณ์ก็พอ

Total
0
Shares