ศาสนาชินโต (神道) ถือเป็นความเชื่อเก่าแก่ดั้งเดิมที่อยู่เคียงคู่ญี่ปุ่นมานานแสนนาน ตามประวัติแล้วศาสนานี้ถือกำเนิดขึ้นบนดินดินแดนอาทิตย์อุทัยมาตั้งแต่สมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์เลยทีเดียว ศาสนาสถานอันศักดิ์สิทธิ์ประจำศาสนาชินโตนี้ก็คือ “ศาลเจ้า หรือ จินจะ (Jinja / 神社)” อันเป็นที่สถิตของ “คามิ หรือ เทพเจ้า (Kami / 神)” ตามความเชื่อของญี่ปุ่น เพื่อให้ผู้คนได้มาสักการะ อธิษฐาน ขอพร เพื่อเป็นสิริมงคลกับตน
ศาสนาชินโตผูกพันกับวิถีชีวิตคนญี่ปุ่นตั้งแต่เกิดจนตาย (รวมถึงโลกหลังความตายด้วย) นอกจากเชื่อมโยงด้วยพิธีกรรมต่างๆ แล้วยังเกี่ยวพันกับชุมชนไปจนถึงสังคมในหลากหลายมิติ ตลอดจนเป็นกลยุทธสำคัญด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวรวมถึงเป็นซอฟท์พาวเวอร์ที่ทรงพลังอย่างแท้จริง เราอาจสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ของศาลเจ้าไปพร้อมรื่นเริงกับเทศกาล “มัตสึริ (Matsuri / 祭り)” ของชุมชนต่างๆ และจบด้วยการบูชาเครื่องราง “โอมาโมริ (Omamori / お守り)” ให้เป็นสิริมงคลกับตนตลอดจนเป็นของที่ระลึกสร้างความประทับใจ นี่แหละที่ทำให้ศาลเจ้าไม่เคยถูกลืมเลือน
จากขอมูลล่าสุดของ Jinja Honcho (神社本庁 ) หรือสมาคมศาลเจ้าชินโต (Association of Shinto Shrines) ระบุว่าปัจจุบันมีศาลเจ้าชินโตกระจายตัวอยู่ทั่วญี่ปุ่นมากถึงกว่า 80,000 แห่ง ทว่าศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์สำคัญอันโด่งดังที่อยากแนะนำให้ลองไปเยือนนั้นมีดังนี้
1.ศาลเจ้าอิเซะ (Ise Jingu / 伊勢神宮) / จ.มิเอะ
ศาลเจ้านี้ถือเป็นศาลเจ้าหลักที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดรวมถึงเป็นที่เคารพสูงสุดในบรรดาศาลเจ้าทั้งหมดในญี่ปุ่น คาดว่าสร้างขึ้นราว พ.ศ.539 หรือประมาณ 4 ปีก่อนคริสตกาลเพื่ออุทิศให้เป็นที่ประดิษฐานของเทพเจ้า อมาเตระซึ (Amaterasu Omikami / 天照大御神) ผู้เป็นดั่งสุริยะเทพีตามความเชื่อญี่ปุ่นโบราณ ตลอดจนเป็นหัวหน้าทวยเทพทั้งปวง ทั้งยังถือเป็นต้นตระกูลแห่งราชวงศ์ญี่ปุ่นอีกด้วย อันที่จริงแล้วศาลอิเซะนั้นประกอบไปด้วยสองส่วนคือ ศาลเจ้าอิเซะใน (Ise Inner Shrine) ที่เรียกว่า ไนกุ (Naiku / 内宮) หรือชื่อทางการว่า โคไตจินกุ (Kotai Jingu / 皇大神宮 ) กับ ศาลเจ้าอิเซะนอก (Ise Outer Shrine) ที่เรียกว่า เก็กคุ (Geku / 外宮) หรือชื่อทางการว่า โตยูเกะไดจินกุ (Toyouke Daijingu / 豊受大神宮) ซึ่งตั้งอยู่ห่างกัน 6 กม. สำหรับเทพอมาเตระซึจะประทับอยู่ศาลเจ้าในส่วนศาลเจ้านอกเป็นที่สถิตของเทพเจ้าโตโยเกะ (Toyouke Omikami / 豊受大御神) ผู้เป็นเทพแห่งเกษตรกรรม
นอกจากนี้ศาลเจ้าอิเซะยังถือเป็นศาลเจ้าสำคัญประจำราชวงศ์ญี่ปุ่นโดยทางราชวงศ์ก็มีธรรมเนียมที่จะต้องส่งเจ้าหญิงเชื้อพระวงศ์มาดำรงตำแหน่งสังฑราชแห่งศาสนาชินโตด้วย อีกหนึ่งประเพณีโบราณสำคัญที่ถูกอนุรักษ์และสืบทอดต่อมานับพันปีนั้นก็คือ “ชิคิเน็นเซ็นกุ (Shikinen-Sengu / 式年遷宮)” ซึ่งจะทำการรื้อถอนศาลเจ้าเดิมและสร้างขึ้นใหม่ในทุกๆ 20 ปี นอกจากจะเป็นพิธีการศักดิ์สิทธิ์ช่วยฟื้นฟูจิตวิญญาณให้มีชีวิตชีวาอยู่เสมอแล้วประเพณียังเป็นดั่งกลอุบายในการสืบทอดภูมิปัญญาดั้งเดิมตลอดจนรักษามรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่สืบไปได้อย่างแยบยลอีกด้วย การสร้างศาลเจ้าใหม่ทุกครั้งนั้นยังคงรักษาขนบและวิธีการดั้งเดิมไว้ทั้งหมด ตั้งแต่วัสดุในการก่อสร้าง รูปแบบสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ไปจนถึงวิธีการก่อสร้างแบบโบราณในการเข้าไม้ให้เชื่อมติดกันโดยไม่ใช้โลหะหรือตะปูยึดเหนี่ยว
+ ที่ตั้ง: 1 Ujitachicho, Ise, Mie, Japan
+ เว็บไซต์: www.isejingu.or.jp/en
+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/3xKoGm4dr3jhZ8W37
2.ศาลเจ้าอิซูโมะ (Izumo Taisha / 出雲大社) / จ.ชิมาเนะ
อีกหนึ่งศาลเจ้าสำคัญที่ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใดทว่ามีการค้นพบข้อมูลในตำราประวัติศาสตร์ฉบับเก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นมีบันทึกถึงศาลเจ้าแห่งนี้ไว้ด้วยซึ่งตำรานั้นตรวจสอบแล้วว่าน่าจะถูกเขียนขึ้นราวช่วงปี ค.ศ.712 อันทำให้ประเมินได้เบื้องต้นว่าศาลเจ้าน่าจะมีอายุเก่าแก่มากกว่านั้นและอาจจะเป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดรองจากศาลเจ้าอิเซะเลยทีเดียว สำหรับเทพเจ้าที่ประดิษฐาน ณ ศาลเจ้าแห่งนี้ก็คือเทพเจ้า โอคุนินุชิ (Okuninushiokami / 大国主大神) อันเป็นเทพแห่งการสร้างชาติ, เกษตรกรรม, แพทย์ศาสตร์, และเวทมนตร์ปกป้อง แต่บ้างก็มีข้อมูลว่าเป็นเทพแห่งการครองคู่ (แต่งงาน) นั่นเลยทำให้เกิดธรรมเนียมไหว้ศาลเจ้าในรูปแบบเฉพาะไม่เหมือนใครโดยจะเป็นการปรบมือ 4 ครั้ง (ปกติธรรมเนียมพื้นฐานจะปรบมือแค่ 2 ครั้ง) โดยสองครั้งแรกเป็นการขอพรให้กับตนเองและสองครั้งหลังเป็นการมอบพรให้กับคู่ครองตนให้สมปรารถนา
ในส่วนของฮงเด็นอันเป็นศาลเจ้าประธาน (Honden / 本殿) อันศักดิ์สิทธิ์สูงสุดนั้นสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมไทชะ (Taisha Zukuri / 大社造) อันเป็นสไตล์ของศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดที่อ้างอิงจากต้นฉบับของศาลเจ้าแห่งนี้นั่นเอง ทว่าสถาปัตยกรรมที่โด่งดังขึ้นชื่อนั้นน่าจะเป็นอาคารคากุระเด็น (Kaguraden / 神楽殿) ซึ่งสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1776 โดยมีจุดเด่นตรงการตกแต่งเชือกศักดิ์สิทธิ์ถักพันเกลียว “ชิเมะนาวะ (Shimenawa / 標縄)” ขนาดยักษ์อยู่เหนือประตูอาคารอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อที่เสมือนเครื่องรางปัดเท่าสิ่งชั่วร้ายและปกป้องเราจากสิ่งอัปมงคลไม้ให้เข้ามากล้ำกลายนั่นเอง เชือกถักพันเกลียวยักษ์ที่เรามักเห็นกันบ่อยนี้มีความยาวราว 1.35 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางราว 8 เมตร และหนักกว่า 4.5 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นเชือกพันเกลียวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นเลยทีเดียว
+ ที่ตั้ง: 195 Taishacho Kizukihigashi, Izumo, Shimane, Japan
+ เว็บไซต์: izumooyashiro.or.jp
+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/9yAgfqKGuHHfscdR7
3.ศาลเจ้าอิทสึคุชิมะ (Itsukushima Shrine / 厳島神社) / จ.ฮิโรชิม่า
มรดกแห่งศรัทธาลอยล่องกลางท้องทะเลนี้ถือว่าเป็นศาลเจ้าที่โด่งดังที่สุดในญี่ปุ่นก็ว่าได้ นอกจากจะเป็นภาพจำของญี่ปุ่นในอันดับต้นๆ แล้วศาลเจ้าและประตูโทริอิสุดไอคอนิกแห่งนี้ยังเป็นมรดกโลก (UNESCO World Heritage Site) อันทรงคุณค่าตลอดจนได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 3 วิวสุดคลาสสิกตลาดกาล (Three Views of Japan หรือ Nihon Sankei / 日本三景) ที่สะท้อนความงดงามของญี่ปุ่นได้ดีที่สุดด้วย
ศาลเจ้าดั้งเดิมนั้นสร้างขึ้นราวปี ค.ศ.593 เพื่ออุทิศให้สามเทพธิดาอย่าง อิจิกิชิมาฮิเมะ โนะ มิโคโตะ (Ichikishimahime no Mikoto / 市杵島姫命), ทาโกริฮิเมะ โนะ มิโคโตะ (Tagorihime no Mikoto / 田心姫命) และทากิสึฮิเมะ โนะ มิโคโตะ (Tagitsuhime no Mikoto / 湍津姫命) ที่รู้จักในนาม “ซันโจชิน (Sanjoshin / 三女神)” อันเป็นเทพแห่งท้องทะเลและวายุ (ลมฟ้าอากาศ) แต่สถาปัตยกรรมที่เห็นในปัจจุบันนั้นถูกบูรณะใหม่ให้กลายเป็นสไตล์ “ชินเด็นสึคุริ” (Shinden-zukuri / 寝殿造)” เมื่อปี ค.ศ.1168 ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมของที่พำนักชนชั้นสูงในยุคนั้น ซึ่งการปรับโฉมอย่างประณีตงดงามนี้ก็ทำให้ศาลเจ้าที่นี่วิจิตรงดงามกว่าเดิมจนดึงดูดให้ราชวงศ์และขุนนางชั้นสูงจากเกียวโตเดินทางมาสักการะตลอดจนนำวัฒนธรรมราชสำนักมาสู่ดินแดนนี้จนยกระดับให้ที่นี่กลายเป็นศาลเจ้าสำคัญระดับประเทศในที่สุด
+ ที่ตั้ง: 1-1 Miyajimacho, Hatsukaichi, Hiroshima, Japan
+ เว็บไซต์: itsukushimajinja.jp/en
+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/J2C6hfcxzF4F3Qws8
4.ศาลเจ้านิกโกะโทโชกุ (Nikko Toshogu / 光東照宮) / จ.โทชิกิ
โทกุงาวะ อิเอยาสึ (Tokugawa Ieyasu / 徳川家康) ได้รับยกย่องว่าเป็นโชกุนต้นตระกูลโทกุงาวะอันเกรียงไกรรวมรวบแผ่นดินญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่น ภายหลังจากท่านเสียชีวิตแล้วโอรสโทกุงาวะ ฮิเดะทาดะ (Tokugawa Hidetada / 徳川秀忠) ผู้สือบทอดขึ้นเป็นโชกุนรุ่นที่สองก็ได้สร้างศาลเจ้านี้ขึ้นในปี ค.ศ. 1617 อย่างวิจิตประณีตเพื่ออุทิศถวายแด่อิเอยาสึบิดาผู้ยิ่งใหญ่ ต่อมาโทกุงาวะ อิเอมิตสึ (Tokugawa Iemitsu / 徳川 家光) หลายชายผู้สืบทอดขึ้นเป็นโชกุนรุ่นที่สามก็ได้บูรณะศาลเจ้าครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1636 จนกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่วิจิตประณีตและมีสีสันงดงามอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้เพื่อให้สมฐานะกับการที่ท่านอิเอยาสึที่ได้รับยกย่องว่าเป็น “โทโชไดกงเก็น (Tosho Daigongen / 東照大権現)” หรือ “เทพผู้ยิ่งใหญ่ที่คอยปกปักรักษาดินแดนฝั่งตะวันออก” นั่นเอง
รอบบริเวณภายใต้ร่มไม้เขียวขจีเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมวิจิตรประณีตที่ผสมผสานความเชื่อสองศาสนาระหว่างชินโตและพุทธได้อย่างงดงามกลมกลืน เอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมนี้มีความเฉพาะตัวไม่เหมือนใครตั้งแต่งานเกะสลักไปจนถึงการแต่งแต้มสีลงรักปิดทองที่ทำให้ต่างจากศาลเจ้าแบบดั้งเดิมซึ่งนี่คือต้นแบบของศาลเจ้าในสไตล์โทโชกุ (Toshogu / 東照宮) อีกหลายแห่งทั่วญี่ปุ่น ในส่วนของฮงเดนอันเป็นศาลเจ้าประธานศักดิ์สิทธิ์ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนโดยตรงกลางเป็นที่ประดิษฐานดวงวิญญาณโทกุกาวะ อิเอยาสุ ส่วนด้านข้างทั้งสองเป็นที่ประดิษฐานดวงวิญญาณของโอดะ โนบุนางะ (Oda Nobunaga / 織田 信長) และโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi / 豊臣 秀吉) แม่ทัพสองสหายผู้ยิ่งใหญ่นั่นเอง
+ ที่ตั้ง: 2301 Sannai, Nikko, Tochigi, Japan
+ เว็บไซต์: www.toshogu.or.jp/english
+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/q2toALpB3zSZPFrLA
5.ศาลเจ้าเมจิ (Meiji Jingu / 明治神宮) / จ.โตเกียว
หนึ่งในศาลเจ้ายุคใหม่ที่เปี่ยมศรัทธาและมีผู้เดินทางไปสักการะเป็นจำนวนมากในทุกวัน เหตุผลหนึ่งนั้นก็คือการตั้งอยู่ใจกลางแหล่งท่องเที่ยวดังระดับโลกอย่างชิบุย่าและฮาราจูกุนั่นเอง ทว่าเพียงก้าวเข้าสู่เขตแดนของศาลเจ้านั้นก็เสมือนอยู่กันคนละโลกเลยทีเดียว ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์กลางกรุงโตเกียวนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1915 ภายหลังจากพระจักรพรรดิเมจิ Emperor Meiji / 明治天皇) สวรรคตในปี ค.ศ.1912 และพระราชินีโชเค็ง (Empress Shoken / 昭憲皇后) สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1914 เพื่อเป็นการอุทิศแด่ดวงพระวิญญาณของทั้งสองพระองค์ โดยสร้างจากเงินบริจาคของคนญี่ปุ่นทั่วประเทศ ถึงแม้ว่าสถาปัตยกรรมดั้งเดิมจะถูกทำลายไปช่วงสงครามโลกครั้งที่สองแต่ก็มีการบูรณะขึ้นใหม่ในปี ค.ศ.1958 ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของประชาชนญี่ปุ่นอีกครั้ง
ภายในบริเวณนี้มีสิ่งน่าสนใจมากมาย ส่วนของฮงเด็นอันเป็นศาลเจ้าประธานศักดิ์สิทธิ์สูงสุดนี้เป็นสถาปัตยกรรมไม้แบบนากะเระสึคุริ (nagare zukuri / 流造 ) ตามแบบศาลเจ้าชินโตดั้งเดิมที่มีลักษณะเด่นเป็นหลังคาจั่วแบบอสมมาตร ในส่วนของป่าศักดิ์สิทธิ์แห่งศาลเจ้าเมจิ (Meiji Jingu Forest / 明治神宮の森) นั้นก็ไม่ใช่ผืนป่าดั้งเดิมทว่าเป็นป่าที่มนุษย์สร้างขึ้นจากต้นไม้มากกว่า 120,000 ต้นที่ได้รับบริจาคมาจากประชาชนทั่วประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน นอกจากนี้ก็ยังมีประตูโทริอิ (Torii / 鳥居) สีไม้ธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ต่างจากโทริอิสีแดงอันคุ้นเคยซึ่งสร้างขึ้นจากต้นไม้อายุกว่า 1,500 ปี และคงความธรรมชาติเพื่อให้กลมกลืนกับธรรมชาติโดยรอบ ไปจนถึง “พิพิธภัณฑ์ศาลเจ้าเมจิ (Meiji Jingu Museum / 明治神宮ミュージアム)” ที่จัดแสดงมรดกแผ่นดินอันทรงคุณค่า และสิ่งน่าสนใจอื่นอีกมากมาย
+ ที่ตั้ง: 1-1 Yoyogikamizonocho, Shibuya, Tokyo, Japan
+ เว็บไซต์: www.meijijingu.or.jp/en
+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/33dBfE5BQMnJoQtV9
6.ศาลเจ้าฟูชิมิอินาริไทชะ (Fushimi Inari Taisha / 伏見稲荷大社) / จ.เกียวโต
ภาพของอุโมงค์ประตูโทริอิสีแดงเรียงรายทอดยาวต่อกันสุดลูกหูลูกตานี้เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ญี่ปุ่นที่คนทั่วโลกคุ้นเคยกันดี สถานที่ท่องเที่ยวอันโด่งดังนี้ก็คือศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์แห่งเกียวโตนี้นั่นเอง คาดว่าสร้างขึ้นราวปี ค.ศ.711 ก่อนที่เกียวโตจะกลายเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่นเสียอีก ภายหลังไม่นานพระจักรพรรดิได้พระราชทานตำแหน่ง “ไทชะ (Taisha / 大社)” หรือศาลเจ้าชั้นสูงให้จนทำให้ยกระดับกลายเป็นศูนย์กลางการบูชาเทพอินาริที่สำคัญที่สุดในญี่ปุ่นนับแต่นั้นมา
ศาลเจ้านี้สร้างเพื่ออุทิศถวายให้กับเทพเจ้า “อินาริ (Inari Okami / 稲荷大神)” อันเป็นเทพแห่งเกษตรกรรมทว่าเหล่าบรรดาพ่อค้าต่างก็พากันมาขอพรให้การค้าขายเจริญรุ่งเรืองด้วย และนั่นก็เป็นที่มาของธรรมเนียมสำคัญที่ทำให้บริษัทตลอดจนผู้ประกอบการธุรกิจทั่วญี่ปุ่นมักนิยมถวายประตูโทริอิให้แก่ศาลเจ้านี้เพราะเชื่อว่าจะทำให้กิจการของตนเจริญรุ่งเรือง ทำให้ต่อมามีโทริอิเรียงรายนับพันจนถูกเรียกว่า “เซ็นบงโทริอิ (Senbon Torii / 千本鳥居)” ที่แปลว่าเสาประตูโทริอิหนึ่งพันต้น แล้วถ้าหากนับทั้งภูเขาศักดิ์สิทธิ์คาดว่าจะมีเสาโทริอิในบริเวณนี้กระจายอยู่นับหมื่นต้นเลยทีเดียว
+ ที่ตั้ง: 68 Fukakusa Yabunouchicho, Fushimi, Kyoto, Japan
+ เว็บไซต์: inari.jp
+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/ksgwPgh7qmNqspAs6
7.ศาลเจ้าดะไซฟุเท็นมังงุ (Dazaifu Tenmangu / 太宰府天満宮) / จ.ฟุกุโอกะ
ไม่ว่านักเรียนนักศึกษาของชนชาติไหนมักมีประสบการณ์ขอพรให้เรียนดีสอบผ่านเสมอ สำหรับญี่ปุ่นแล้วศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงด้านการศึกษามากที่สุดทั้งยังยกย่องว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดเห็นจะเป็นศาลเจ้าดังแห่งเกาะคิวชูนี้นี่เอง ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นราวปี ค.ศ.905 บนหลุมฝังศพของกะวาระ โนะ มิจิซะเนะ (Sugawara no Michizane / 菅原道真) นักปราชญ์และกวียิ่งใหญ่ผู้เป็นขุนนางแห่งยุคเฮอันเพื่ออุทิศให้ดวงวิญญาณของท่านที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “เท็นจิน (Tenjin / 天神)” เทพแห่งการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และวรรณกรรม
สถาปัตยกรรมอันโดดเด่นก็คือฮงเด็นอันเป็นศาลเจ้าประธานศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมสไตล์โมโมะยามะ (Momoyama / 桃山) ประณีตงดงาม ฮงเด็นหลังดั้งเดิมนั้นสร้างขึ้นในปี ค.ศ.919 แล้วมีการบูรณะใหม่ในปี ค.ศ.1591 แต่การบูรณะครั้งล่าสุดในปี ค.ศ.2023 นี้ (ปิดบูรณะ ค.ศ.2023-2026) กลับสร้างความฮือฮาไปทั่วโลกและทำให้ศาลเจ้านี้กลับมาโด่งดังเป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกครั้ง เพราะการปิดบูรณะฮงเด็นครั้งนี้ทำให้มีแนวคิดในการสร้างศาลเจ้าชั่วคราวขึ้นมาเฉพาะกิจเพื่อประกอบพิธีและให้คนมาสักการะดังเดิม ทว่าฮงเด็นชั่วคราวครั้งนี้มาในดีไซน์เรียบง่ายแต่ล้ำสมัยโดยมีจุดเด่นอยู่ตรงดีไซน์หลังคาเอียงที่ได้แรงบันดาลใจมาจากฮงเด็นดั้งเดิมทว่าด้านบนกลับปลูกสวนป่าขนาดย่อมให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมโดยรอบซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากผืนป่าและธรรมชาติรอบข้างนั่นเอง ขณะเดียวกันก็สื่อสารถึงเรื่องวิถียั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย โดยผลงานครั้งนี้เป็นฝีมือออกแบบของ Sou Fujimoto บริษัทสถาปนิกญี่ปุ่นชื่อดังก้องโลกของฟุจิโมโตะ โซซุเกะ (Fujimoto Sosuke / 藤本 壮介) นั่นเอง
+ ที่ตั้ง: 4 Chome-7-1 Saifu, Dazaifu, Fukuoka, Japan
+ เว็บไซต์: www.dazaifutenmangu.or.jp/th
+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/QojCV6g67S5m5jqe6
8.หมู่ศาลเจ้าคุมาโนะซานซัง (Kumano Sanzan / 熊野三山) / จ.วากายามะ
คุมาโนะโคโดะ (Kumano Kodo / 熊野古道) คือเส้นทางแสวงบุญโบราณที่เก่าแก่มากกว่า 1,000 ปีทอดลัดเลาะผ่านผืนป่าเขียวขจีไปตามภูเขาสูงชันในแถบคาบสมุทรคิอิ (Kii Hanto / 紀伊半島) จ.วากายามะ เส้นทางศักดิ์สิทธิ์อันโด่งดังนี้ยังได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก (UNESCO World Heritage Site) ด้วย
เส้นทางนี้ทอดผ่านเชื่อต่อหมู่ศาลเจ้าคุมาโนะซานซัง (Kumano Sanzan / 熊野三山) ที่มีศาลเจ้าใหญ่ชินโตตั้งอยู่ด้วยกัน 3 แห่งก็คือ ศาลเจ้าคุมาโนะฮงกุไทฉะ (Kumano Hongu Taisha / 熊野本宮大社), ศาลเจ้าคุมาโนะฮายาทามะไทฉะ (Kumano Hayatama Taisha / 熊野速玉大社), และ ศาลเจ้าคุมาโนะนาชิไทฉะ (Kumano Nachi Taisha Grand Shrine / 熊野那智大社)
บนเส้นทางยังมีวัดพุทธตั้งอยู่ร่วมด้วยอีก 2 แห่งคือ วัดฟุดาระคุซานจิ (Fudarakusanji / 補陀洛山寺) และ วัดเซกันโตจิ (Seigantoji / 青岸渡寺) ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์โด่งดังของเส้นทางแสวงบุญนี้เลยก็ว่าได้เพราะภาพจำแสนงดงามที่ทุกคนรู้จักดีก็คือภาพของสถาปัตยกรรมไม้สไตล์ญี่ปุ่นยืนตระหง่านท่ามกลางผืนป่าโดยมีฉากหลังเป็นน้ำตกสูงชัน
น้ำตกแห่งนี้ก็คือ น้ำตกนาชิ (Nachi Falls / 那智滝) ที่สูงถึง 133 เมตรและเป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในญี่ปุ่น นอกจากนี้เส้นทางแสวงบุญนี้ยังสะท้อนถึงส่วนผสมของสองความเชื่อ “ชินบุตสึชูโก (Shinbutsu-shugo / 神仏習合)” ระหว่างชินโตและพุทธได้อย่างกลมกลืนด้วย และเชื่อกันว่าเทพที่ปกปักรักษาถิ่นนี้เป็นส่วนผสมระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งพุทธศาสนากับเทพเจ้าชินโตที่เกื้อหนุนกัน นั่นทำให้เส้นทางนี้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเส้นทางแสวงบุญที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในญี่ปุ่นอีกด้วย
+ ที่ตั้ง: Nakahechicho Fukusada, Tanabe, Wakayama, Japan
+ เว็บไซต์: www.kumano-sanzan.jp I www.tb-kumano.jp/en
+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/msdwx8ekjJXkiSpk7
9.ศาลเจ้านามิโนะอุเอะ (Naminouegu / 波上宮) / จ.โอกินาว่า
มรดกศักดิ์สิทธิ์แห่งอาณาจักรริวกิวนี้โดดเด่นด้วยวิวทิวทัศน์งดงามสะดุดตาอันเป็นภาพของศาลเจ้าริมผาตั้งอยู่บนโขดหินขนาดยักษ์ริมท้องทะเลสีครามในเมืองนาฮะ (Naha / 那覇) อันเป็นเมืองหลวงของ จ.โอกินาว่า จากบันทึกกำเนิดราชอาณาจักรริวกิว (琉球國由來記) มีหลักฐานที่คาดการณ์ได้ว่าศาลเจ้าดั้งเดิมนั้นอาจสร้างขึ้นราวช่วงปี ค.ศ.1367 ทว่าหลักฐานอย่างเป็นทางการในการขึ้นทะเบียนเป็นศาลเจ้าชินโตนั้นก็คือปีก่อตั้ง ค.ศ.1890 ภายหลังที่ญี่ปุ่นยึดอาณาจักรริวกิวเบ็ดเสร็จแล้วเปลี่ยนมาเป็น จ.โอกินาว่า นั่นเอง หลังจากนั้นในปี ค.ศ.1932 ได้มีการบูรณะศาลเจ้าครั้งใหญ่ที่เปลี่ยนจากสถาปัตยกรรมแบบโอกินาว่าดั้งเดิมให้กลายเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานรูปแบบญี่ปุ่นเข้าไปแต่ท้ายที่สุดแล้วเพียงไม่กี่ปีก็ถูกทำลายสิ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนั้นช่วงหลังสงครามก็ได้มีการระดมทุนเพื่อบูรณะศาลเจ้าขึ้นใหม่ทว่าก็ใช้เวลาถึงกว่าสี่ทศวรรษกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ.1993 อย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ศาลเจ้านามิโนะอุเอะนอกจากจะเป็นศาลเจ้าชั้นนำอันดับหนึ่งของโอกินาว่าแล้วก็ยังเป็นหนึ่งในหมู่ “ศาลเจ้าทั้งแปดแห่งริวกิว (Ryukyu Hassha / 琉球八社)” ซึ่งเคยเป็นศาสนสถานสำคัญของศาสนาพื้นบ้านท้องถิ่นที่นี่ก่อนที่ภายหลังทั้งหมดจะถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นศาลเจ้าชินโตท้องถิ่นที่เรียกว่า “นิไรกะไนชินโกะ (Niraikanai Shinko / ニライカナイ信仰) หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ริวกิวชินโต (Ryukyu Shinto / 琉球神道)” ในเวลาต่อมา โดยเป็นที่สถิตของเทพเจ้า “นิกิฮายะฮิโนมิโกโตะ (Nigihayahinomigoto / 饒速日命)” อันเป็นเทพแห่งการเดินเรือและการประมงซึ่งคอยปกป้องคุ้มครองชาวเกาะตลอดจนคนเดินเรือทั้งหลายให้ปลอดภัย
+ ที่ตั้ง: 1 Chome-25-11 Wakasa, Naha, Okinawa, Japan
+ เว็บไซต์: naminouegu.jp/english
+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/PqjN1DM4tpFAAuCs9
10.ศาลเจ้าอุซะ (Usa Jingu / 宇佐神宮) / จ.โออิตะ
ศาลเจ้าเก่าแก่นี้ตั้งอยู่ที่เมืองอุซะบนคาบสมุทรคุนิซากิ (Kunisaki Hanto / 国東半島) ทางตอนเหนือของเกาะคิวชู ถือเป็นศาลเจ้าหลักศักดิ์สิทธิ์สูงสุดในบรรดาศาลเจ้าชินโตสายฮาจิมัน (Hachiman / 八幡神) ทั้งหมดซึ่งสร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่เทพเจ้าแห่งอาวุธและสงคราม ตามประวัติศาสตร์แล้วคาดว่าศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นราวศตวรรษที่ 8 เพื่ออุทิศให้ พระจักรพรรดิโอจิน (Emperor Ojin / 応神天皇) ผู้เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 15 แห่งราชวงศ์ญี่ปุ่นที่เชื่อกันว่าอวตาลมาเป็นเทพเจ้าฮาจิมันนั่นเอง
ศาลเจ้าอุซะแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันอีกชื่อว่า “อุซะฮะจิมันกู (Usa Hachimangu / 宇佐八幡宮)” คาดว่าสร้างในยุคสมัยวาโด (Wado era; ค.ศ.708-714) ต่อจากนั้นราวปี ค.ศ.779 ได้มีการสร้างวัด มิโคคุจิ (Mirokuji /弥勒寺) ขึ้นมาเพิ่มในบริเวณเดียวกันแล้วเรียกโดยรวมว่า อุซะฮะจิมันกุจิ (Usa Hachimangu-ji /宇佐八幡宮寺) ก่อนที่ยุคหลังจะมีการร่างพระราชบัญญัติ Kami and Buddhas Separation Act ขึ้นในปี ค.ศ.1868 เพื่อให้แยกศาสนาชินโตกับศาสนาพุทธอย่างชัดเจนจึงทำให้กลายมาเป็นชื่ออย่างที่เรียกกันในปัจจุบันข้างต้นนั่นเอง ทว่าสถาปัตยกรรมและตัววัดยังคงอยู่เช่นเคยและจากหลักฐานที่ค้นพบตอนนี้ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่าที่นี่น่าจะเป็นศาสนาสถานที่เรียกว่า “จินกูจิ (Jingu-ji /神宮寺)” หรือวัดศาลเจ้า (ศาลเจ้าศาสนาชินโตผสมกับวัดพุทธ) แห่งแรกของญี่ปุ่นที่แท้จริง
+ ที่ตั้ง: 2859 Minamiusa, Usa, Oita, Japan
+ เว็บไซต์: www.usajinguu.com
+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/jK38pMRdAWDHapvy6
ปฏิบัติตนอย่างไรดีเวลาไปสักการะศาลเจ้าชินโต
เชื่อว่าหลายคนคงเคยผ่านประสบการณ์ชวนสงสัยเวลาเข้าไปเที่ยวศาลเจ้าชินโตในญี่ปุ่นมาแล้ว แน่นอนว่าครั้งแรกอาจทำตัวไม่ถูกเพราะไม่รู้ประเพณีหรือธรรมเนียมปฏิบัติที่ถูกต้อง วันนี้เราเลยนำเอาข้อปฏิบัติเบื้องต้นในการไปสักการะศาลเจ้ามาฝากกัน เพื่อเป็นแนวทางสักการะอย่างมีกาลเทศะที่ถูกต้อง และเคารพต่อศาสนาอย่างแท้จริง ไปดูกันเลย
ขั้นตอนก่อนเข้าสู่ศาลเจ้า
เทมิซึ (Temizu / 手水) ขั้นตอนนี้คือการชำระล้างสิ่งสกปรกด้วยน้ำสะอาด ผู้ที่ต้องการจะเข้าไปสักการะศาลเจ้าจะต้องชำระล้างร่างกายให้สะอาดบริสุทธิ์เสียก่อนเข้าสู่เขตภายใน จุดจำระล้างนี้เรียกว่าเทมิซึยะ (Temizuya / 手水舎) มีลักษณะเป็นศาลาโปร่งที่มีบ่อน้ำชำระล้างอยู่ภายในซึ่งจะมีน้ำสะอาดไหลเวียนตลอดเวลา ธรรมเนียมนิยมก็คือการล้างมือและบ้วนปากให้สะอาดเพราะสองสิ่งนี้คืออวัยวะสำคัญในการสักการะนั่นคือมือสำหรับไหว้ขอพรและปากสำรวจสวดมนต์ตลอดจนอธิษฐาน โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- 1. ล้างมือ > ใช้กระบวย (ที่ศาลเจ้าจัดเตรียมไว้ให้) ตักน้ำในบ่อขึ้นมาแล้วเทชำระล้างมือทั้งสองข้างให้สะอาดตรงบริเวณรางระบายน้ำทิ้งด้านล่าง (ไม่ควรเทล้างมือเหนือบ่อน้ำและห้ามจุ่มมือลงไปล้างในบ่อน้ำโดยตรง)
- 2. บ้วนปาก > ใช้กระบวยตักน้ำขึ้นมาอีกครั้ง จากนั้นอูมอุ้งมืออีกข้างให้เป็นเสมือนภาชนะรองรับน้ำ แล้วนำน้ำในกระบวยมาเทใส่อุ้งมือก่อนที่จะนำน้ำในอุ้งมือมาบ้วนปากให้สะอาด เสร็จแล้วให้บ้วนทิ้งในทางระบายน้ำด้านล่าง (ไม่ควรใช้กระบวยตักน้ำสัมผัสปากเราเพื่อบ้วนน้ำโดยตรง เพื่อสุขอนามัยที่ดีทั้งต่อตัวเราและผู้อื่น และห้ามบ้วนเหนือสระหรือคายน้ำทิ้งลงในสระเด็ดขาด) หากใช้น้ำในกระบวยไม่หมดไม่ควรเทน้ำกลับคืนลงสู่บ่อแต่ให้เทน้ำทิ้งลงทางระบายน้ำไปเลย
- 3. ล้างมือซ้ำ > จากนั้นให้ใช้กระบวยตักน้ำมาล้างทำความสะอาดมือทั้งสองข้างอีกครั้ง
เมื่อปฏิบัติภารกิจเสร็จแล้วให้ยกกระบวยขึ้นแนวตั้งเพื่อเทน้ำทิ้งให้หมด จากนั้นนำกระบวยไปวางคืนไว้ ณ จุดจัดวางเดิม โดยคว่ำปากกระบวยลงให้เรียบร้อย
หมายเหตุ : ขั้นตอนทั้งหมดอ้างอิงข้อมูลมาจากศาลเจ้าอิเซะ
ขั้นตอนเมื่อเข้าไปในศาลเจ้า (สักการะและอธิษฐานขอพร)
ซานไป (Sanpai / 参拝) หรือ ซานไปโนะซาโฮะ (Sanpai no saho / 参拝の作法) ขั้นตอนนี้คือวิธีปฏิบัติและมารยาทในการสักการะศาลเจ้าตามธรรมเนียมญี่ปุ่น หลังจากเข้ามาภายในและยืนอยู่ ณ จุดสักการะเรียบร้อยแล้วให้ทำตามขั้นตอนโดยมีหลักการจำง่ายๆ ว่า 二拝二拍手一拝 (นิไฮ-นิฮะกุ-ชูอิปไป / Nihai-nihaku-shuippai) ซึ่งก็คือ คำนับสอง-ปรบมือสอง-คำนับหนึ่ง (2-2-1) ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไป
- 1.ยืนตรงและคำนับ 2 ครั้ง
- 2.ปรบมือสองครั้ง
- 3.ปิดท้ายด้วยการคำนับ 1 ครั้ง
หมายเหตุ : ขั้นตอนทั้งหมดอ้างอิงข้อมูลมาจากศาลเจ้าอิเซะ
หรือตามศาลเจ้าทั่วไปที่มีกล่องถวายเงินอยู่ด้านหน้าก็ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดั้งนี้
- 1.โยนเหรียญบริจาคลงในกล่องสักการะ
- 2.เขย่าเชือกเพื่อสั่นกระดิ่งให้ดัง (หากไม่มีกระดิ่งก็สามารถข้ามขั้นตอนนี้ไปได้)
- 3.คำนับ 2 ครั้ง
- 4.ปรบมือ 2 ครั้ง (เสร็จแล้วกล่าวคำอธิษฐาน)
- 5.คำนับ 1 ครั้ง
เป็นอันเสร็จพิธี
หมายเหตุ : ขั้นตอนทั้งหมดอ้างอิงข้อมูลมาจากศาลเจ้าเมจิ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Shinto_shrine#Interpreting_shrine_names
https://japanupclose.web-japan.org/techculture/c20231110_3.html
https://www.japan.travel/th/spot/1210
https://www.japan-guide.com/e/e2059.html
https://www.isejingu.or.jp/en/pray/index.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Three_Views_of_Japan
https://itsukushimajinja.jp/en
https://www.toshogu.or.jp/english
https://en.wikipedia.org/wiki/T%C5%8Dsh%C5%8D-g%C5%AB
https://www.meijijingu.or.jp/en/whattosee
https://en.wikipedia.org/wiki/Meiji_Shrine
https://en.wikipedia.org/wiki/Fushimi_Inari-taisha
https://www.japan.travel/th/spot/1128
https://en.wikipedia.org/wiki/Dazaifu_Tenmang%C5%AB
https://www.dazaifutenmangu.or.jp/th
https://www.jnto.or.th/newsletter/charm-of-wakayama
https://www.shinguu.jp/en/kumanokodo1
https://en.wikipedia.org/wiki/Naminoue_Shrine
https://naminouegu.jp/english.html
https://www.goteamjosh.com/blog/tag/Eight+Shrines+of+Okinawa
https://en.wikipedia.org/wiki/Usa_Jing%C5%AB
https://en.wikipedia.org/wiki/Jing%C5%AB-ji
https://www.jrpass.com/blog/5-important-shinto-shrines-in-japan-you-need-to-visit