เหตุผลที่คนทั่วโลกหลงรักญี่ปุ่นไม่ใช่แค่เรื่องของความทันสมัยล้ำหน้าเท่านั้นทว่ายังหลงใหลในกลิ่นอายอดีตที่เต็มไปด้วยความเก่าแก่ทรงคุณค่ามากมายด้วย เป็นที่รู้กันดีกว่าญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์เป็นอย่างมากแล้วหนึ่งในสิ่งที่ร่วมกันดูแลรักษาไว้เป็นอย่างดีก็คือบ้านเรือนแบบญี่ปุ่นโบราณตลอดจนวิถีและวัฒนธรรมดั้งเดิมซึ่งปัจจุบันกลับกลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดใจให้คนทั่วโลกต่างอยากมาเยือน
เรือนโบราณจิตวิญญาณญี่ปุ่น
โคมินกะ ( Kominka / 古民家) มาจากรากคำว่า 民家 (มินกะ / minka) ที่แปลว่าบ้านหรือที่อยู่อาศัย ซึ่งคำนี้จะคำหลักครอบคลุมประเภทของบ้านทั้งหมดและจะแตกย่อยออกไปเป็นบ้านลักษณะต่างๆ อีกหลากหลายรูปแบบ ส่วนคำว่า 古 (โคะ / Ko) นั้นหมายถึงเก่าแก่ เมื่อนำคำนี้ไปใส่ไว้ด้านหน้าทำให้ผสมคำออกมาแล้วแปลได้ว่า “บ้านพื้นบ้านหรือบ้านพื้นถิ่นแบบโบราณ (Old Folk House)” นั่นเอง
โดยทั่วไปแล้วโคมินกะจะหมายถึงบ้านหลังใหญ่สไตล์ญี่ปุ่นแบบโบราณที่ตั้งอยู่ตามชานเมืองไปจนถึงพื้นที่ชนบท บางครั้งก็มักถูกนิยามว่าเป็น “บ้านไร่โรงนา (Farm House)” ของเกษตรกรเพราะเรามักพบบ้านลักษณะนี้อยู่เคียงคู่กับวิถีท้องถิ่นชนบทนั่นเอง อีกเหตุผลหนึ่งอาจเป็นเรื่องพื้นที่การปลูกสร้างซึ่งโคมินกะมักจะเป็นบ้านที่ต้องใช้พื้นที่มากเลยทำให้บ้านลักษณะนี้มักจะไม่ใช่บ้านเรือนที่อยู่ในเขตชุมชนเมืองนัก ทว่าบางครั้งเราก็พบโคมินกะอยู่ในเขตเมืองได้เช่นกันซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นบ้านของเหล่าขุนนางหรือซามูไรนั่นเอง ซึ่งโคมินกะรูปแบบนี้ก็จะมีการตกแต่งประณีตหรูหรามากขึ้น
มีอีกหนึ่งคำที่ใช้เรียกบ้านแบบญี่ปุ่นโบราณเช่นกันนั่นคือ มะชิยะ (Machiya / 町屋) ซึ่งคำนี้อาจเป็นที่รู้จักคุ้นเคยสำหรับคนต่างชาติมากกว่า แต่หากลงลึกในความหมายและลักษณะของสถาปัตยกรรมแล้วก็จะพบว่ามะชิยะนั้นแตกต่างจากโคมินกะอย่างไร อันที่จริงแล้วลักษณะของมะชิยะก็คือบ้านไม้ห้องแถว (Wooden Townhouse) สไตล์ญี่ปุ่นโบราณที่สร้างเรียงชิดติดกัน มีพื้นที่หน้าตัดไม่กว้างนักแต่เน้นการใช้ประโยชน์อาคารในแนวลึกแทน อาคารจะอยู่ริมถนนและมักจะตั้งอยู่ในย่านการค้าใจกลางเมืองซึ่งนี่ก็คือต้นแบบอาคารพาณิชย์ในปัจจุบันนั่นเอง ส่วนใหญ่แล้วมะชิยะมักจะเป็นบ้านของเหล่าพ่อค้าตลอดจนคหบดีผู้มีอันจะกินซึ่งประกอบธุรกิจการค้าขายต่างๆ นั่นเอง
ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน แต่บ้านสไตล์โคมินกะดั้งเดิมที่เราเห็นส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบันนี้เป็นรูปแบบที่พัฒนาขึ้นมาในยุคเอโดะ (Edo Era; ค.ศ.1603-1868) ที่ตรงกับช่วงศตวรรษที่ 17-18 เสียส่วนใหญ่ ทำให้บางครั้งกลายเป็นว่าเกณฑ์กำหนดหนึ่งของโคมินกะที่แท้จริงนั้นจะต้องเป็นบ้านที่สร้างขึ้นในยุคเอโดะด้วยนั่นเอง
แต่ถึงอย่างไรใช่ว่าบ้านสไตล์ญี่ปุ่นที่สร้างขึ้นหลังจากยุคเอโดะจะไม่โคมินกะเสียทีเดียว เราลองมาดูกันดีกว่าว่าคุณลักษณะใดบ้างที่จะทำให้บ้านหลังนั้นเรียกว่าโคมินกะได้อย่างแท้จริง
คุณลักษณะของโคมินกะ
ถึงแม้ว่าบ้านพื้นถิ่นญี่ปุ่นแบบโบราณจะจำแนกด้วยตาเปล่าได้ค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่แรกเห็นแล้ว แต่โคมินกะที่แท้จริงก็มีคุณลักษณะเฉพาะตัวตลอดจนมีหลักเกณฑ์มาตรฐานเพื่อจำแนกประเภทอยู่เช่นกัน
หลักเกณฑ์ทางการ
+ บ้านต้องมีอายุ 50 ปีขึ้นไป: นี่ถือเป็นคุณลักษณะเบื้องต้นที่จะใช้นิยามคำว่า “โบราณ” ตามหลักเกณฑ์ที่อ้างอิงจากพระราชบัญญัติคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ (Cultural Properties Protection Act) ของประเทศญี่ปุ่นซึ่งระบุไว้ว่าสถาปัตยกรรมโบราณทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์จะต้องมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
+ สถาปัตยกรรมสไตล์ญี่ปุ่นที่สร้างตามภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม: ปัจจุบันมีการจัดตั้งองค์กร Japan Kominka Association (全国古民家再生協会) ขึ้นเพื่อดูแลด้านโคมินกะโดยเฉพาะและมีหลักการนิยามบ้านพื้นถิ่นโบราณแบบญี่ปุ่นว่าจะต้องเป็นสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบและวิธีการก่อสร้างตามภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นตลอดจนสร้างขึ้นก่อนการเริ่มประกาศใช้พระราชบัญญัติมาตรฐานอาคาร (Building Standards Act) ในปี ค.ศ.1950 อันเป็นมาตรฐานการก่อสร้างอาคารยุคใหม่
คุณลักษณะทั่วไป
+ สถาปัตยกรรมโครงสร้างไม้ที่สร้างตามภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม: ลักษณะทางสถาปัตยกรรมต้องเป็นบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ โครงสร้างทำจากไม้เป็นหลักตลอดจนสร้างขึ้นตามภูมิปัญญาแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม รวมถึงไม้ใช้ตะปูหรือโลหะยึดโครงสร้างซึ่งวิธีการดั้งเดิมนี้สามารถรองรับการขยายตัวของไม้ตามอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงได้ด้วย รวมถึงทำให้โครงสร้างเกิดความยืดหยุ่นทนต่อแรงสั่นสะเทือนยามเกิดแผ่นดินไหวได้ดีอีกด้วย
+ หลังคาจั่วทรงสูง: อีกหนึ่งอัตลักษณ์ของบ้านสไตล์โคมินกะก็คือการมีหลังคาจั่วสามเหลี่ยมทรงสูงชะลูดที่สร้างตามแบบภูมิปัญญาดั้งเดิม หากเป็นโคมินกะสไตล์บ้านพื้นถิ่นชนบทก็มักจะมุงหลังคาหญ้าซึ่งเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาโบราณทรงคุณค่าและสร้างเอกลักษณ์ให้กับสไตล์บ้านเก่าแก่ แต่ก็มีโคมินกะอีกลักษณะที่เลือกมุงหลังคากระเบื้องดินเผา รวมถึงมีการรีโนเวทใหม่โดยเปลี่ยนมามุงหลังคากระเบื้องดินเผาในภายหลังเพื่อดูแลรักษาง่ายและประหยัดค่าใช้จ่ายยิ่งขึ้น
+ มีอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นชัดเจน: เมื่อดูภาพรวมของบ้านแล้วแสดงอัตลักษณ์สถาปัตยกรรมได้อย่างชัดเจน อาทิ ประตูไม้บานเลื่อนแบบญี่ปุ่น, การปูพื้นห้องด้วยเสื่อตาตามิ, ลวดลายของกระเบื้องดินเผา, โครงสร้างและการแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในอาคาร เป็นต้น
+ บ้านเกษตรกรรมหรือเรือนอาศัยซามูไร: คุณลักษณะนี้สามารถช่วยบ่งบอกได้ว่าบ้านหลังนั้นมีแนวโน้มเป็นสไตล์โคมินกะค่อนข้างสูง ซึ่งยุคก่อนคือรูปแบบบ้านที่นิยมสร้างในหมู่เกษตรกรไปจนถึงขุนนางชั้นสูงที่มีที่ดินในการสร้างบ้าน
ปัจจุบัน (ข้อมูลปี ค.ศ.2024) ในญี่ปุ่นมีบ้านพื้นถิ่นแบบโบราณได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติกว่า 6,300 แห่ง ทว่าความจริงแล้วยังมีโคมินกะหลงเหลือกระจายอยู่ทั่วญี่ปุ่นอีกมากมายซึ่งหลายต่อหลายแห่งก็ยังคงมีผู้คนอาศัยและใช้ชีวิตอยู่บนวิถีดั้งเดิมนี้ ตลอดจนมีโคมินกะที่ถูกรีโนเวทด้วยภูมิปัญญายุคใหม่ให้กลายเป็นบ้านโบราณที่มีกลิ่นอายเก่าผสมใหม่และกลับมาชีวิตชีวาในยุคนี้อีกครั้งเช่นกัน
องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของโคมินกะ
เสน่ห์ของโคมินกะก็คือสถาปัตยกรรมที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณญี่ปุ่นดั้งเดิม มาลองดูกันว่าโครงสร้างและรายละเอียดต่างๆ อันเป็นอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมในแบบญี่ปุ่นนั้นมีองค์ประกอบอะไรน่าสนใจกันบ้าง
+ โดมะ (Doma / 土間): คำนี้แปลว่า “พื้นดิน” สำหรับองค์ประกอบของบ้านแบบญี่ปุ่นนั้นหมายส่วนพื้นทางเข้า (ภายในบ้าน) ก่อนเข้าสู่ในตัวบ้าน ตลอดจนหมายถึงโซนครัวหรือซักล้าง (ภายในบ้าน) ที่อยู่ด้านหลังบ้านด้วยเช่นกัน คุณลักษณะชัดเจนของโซนนี้ก็คือพื้นจะเป็นดินหรืออาจปูหินให้สวยงามและลดความสกปรกลงได้ หากเป็นยุคใหม่หน่อยก็อาจเป็นพื้นเทคอนกรีตที่ใช้งานได้เอนกประสงค์ วัตถุประสงค์ของพื้นที่ตรงนี้ถ้าเป็นส่วนทางเข้าก็คือโซนสำหรับถอดเก็บรองเท้า (ไปจนถึงร่ม) หรือเปลี่ยนมาสวมรองเท้าสำหรับใส่เดินในบ้านซึ่งรูปแบบนี้ก็ยังถูกถ่ายทอดมาสู่สถาปัตยกรรมยุคปัจจุบันด้วยเช่นกัน หากเป็นพื้นที่ด้านหลังส่วนนี้จะกลายเป็นครัวสำหรับใช้เตรียมหรือปรุงอาหาร จัดเก็บวัตถุดิบ ตลอดจนทำความสะอาดอื่นๆ นอกจากนี้อีกหนึ่งหลักการง่ายๆ ที่ใช้สังเกตว่าโซนไหนเรียกว่าโดมะก็คือพื้นบริเวณนี้จะอยู่ติดพื้นดินหรือลำดับล่างสุดโดยจะต่างระดับกับพื้นที่ใช้สอยอื่นที่มักมีการยกพื้นสูงเพื่อแบ่งแยกโซนอย่างชัดเจนนั่นเอง
+ อิโรริ (Irori / 囲炉裏): คำนี้แปลว่า “พื้นเตา” หรือเตาแนวระนาบระดับเดียวกับพื้นบ้านนั่นเอง พื้นบริเวณนี้จะเจาะรูเป็นสีเหลี่ยมจัตุรัสแล้วฝังเตาลงไปตลอดจนกลบดินโดยรอบ บริเวณนี้เป็นเสมือนโถงกลางใจกลางบ้านที่ใช้เป็นพื้นที่สำหรับรับประทานอาหาร (รวมถึงปรุงอาหาร) และเป็นพื้นที่พบปะกันสำหรับคนในครอบครัว ตลอดจนใช้เป็นพื้นที่รับแขกในตัว เตาไฟตรงจุดนี้นอกจากจะใช้ประกอบอาหารแล้วก็ยังเป็นแหล่งให้ความอบอุ่นภายในบ้านด้วย ตลอดจนเป็นแสงส่องสว่างภายในบ้านยามค่ำคืนด้วยเช่นกัน
+ วาชิทซึ (Washitsu / 和室): คำนี้หมายถึง “ห้องสไตล์ญี่ปุ่น (Japanese-style Room)” หรือบางทีก็เรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า “ห้องเสื่อตาตามิ (Tatami Room)” ซึ่งภาษาญี่ปุ่นก็คือ “ซาชิกิ (Zashiki / 座敷) นั่นเอง สำหรับบ้านของเกษตรกรก็คือห้องต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับห้องโถงกลางซึ่งมักเป็นห้องนอนเป็นหลัก ส่วนบ้านชนชั้นขุนนางและซามูไรห้องส่วนใหญ่ก็จะเป็นห้องสื่อตาตามิแทบทั้งสิ้นตั้งแต่ห้องรับแขกไปจนถึงห้องนอนเลยทีเดียว
+ โชจิ (Shoji / 障子) และ ฟุซุมะ (Fusuma / 襖): ประตูเลื่อนไม้ถือเป็นอัตลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น จุดประสงค์หลักก็คือการใช้กั้นห้องและแบ่งพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ประตูเลื่อนนี้ติดตั้งอยู่ภายในบ้าน โดยโชจิจะหมายถึงประตูเลื่อนกรอบไม้บุกระดาษไขที่แสงยังสามารถส่องผ่านได้ ส่วนฟุซุมะก็คือประตูเลื่อนกรอบไม้แบบแผงทึบที่ปิดกั้นมิดชิดคล้ายผนังทึบนั่นเอง
+ อมาโดะ (Amado / 雨戸): คือแผงกันลมและฝนซึ่งเป็นส่วนของผนังบ้านชั้นนอกสุดที่สามารถเปิดเพื่อรับลมตลอดจนปิดเพื่อกันลมและฝนได้ ยุคโบราณแผงส่วนนี้มักเป็นแผงไม้ (คล้ายหน้าต่างบานใหญ่ชั้นนอกของบ้าน) ต่อมาจึงประยุกต์เป็นแผงโครงไม้ติดกระจกที่ปรับดีไซน์มาจากประตูเลื่อนกรอบไม้บุกระดาษไขด้านในนั่นเอง
+ เอ็นกาวะ (Engawa / 縁側): คือชานระเบียงบ้านของญี่ปุ่นที่จะอยู่ใต้ชายคาและเป็นพื้นที่ส่วนริมสุดของตัวบ้าน พื้นบริเวณนี้มักเป็นพื้นไม้ทอดตัวยาวตลอดแนวบ้านที่อยู่ถัดออกไปจากห้องเสื่อตาตามิ หากเป็นชานระเบียงแบบเปิดโล่งพื้นที่ตรงนี้ก็จะเชื่อมต่อกับสวนหรือลานกลางแจ้งเอนกประสงค์ภายในเขตบ้าน หรือหากเป็นชานระเบียงแบบปิดพื้นที่ส่วนนี้ก็จะอยู่ด้านในของงอมาโดะที่ปิดเพื่อกันลมและกันฝนนั่นเอง นอกจากนี้โซนเอ็นกาวะก็มักจะเป็นพื้นที่นั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจได้ด้วยเช่นกัน
+ คายะบูกิยาเนะ (Kayabukiyane / 茅葺き屋根) และ คาวาระ (Kawara / 瓦): คายะบูกิยาเนะคือหลังคามุงจากภูมิปัญญาญี่ปุ่นโบราณที่ใช้วัสดุธรรมชาติเป็นต้นหญ้าท้องถิ่นที่เหนียวและแข็งแรง ป้องกันฝนและหิมะได้ ตลอดจนกันความหนาวเย็นและความร้อนได้ดี รวมถึงเป็นฉนวนกันเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย นอกจากนี้ยังมีอีกวัสดุหนึ่งที่ใช้มุงหลังคาโคมินกะนั่นก็คือคาวาระซึ่งก็คือกระเบื้องดินเผานั่นเอง โดยเฉพาะโคมิกะยุคหลังที่อาจเลือกรีโนเวทโดยการปูหลังคากระเบื้องแทนการมุงหลังคาหญ้าที่อาจดูแลรักษาได้ง่ายและประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าด้วยนั่นเอง
ย้อนอดีตวันวานเที่ยวหมู่บ้านโคมินกะ
ญี่ปุ่นมีความพยายามจะอนุรักษ์บ้านโบราณแบบโคมินกะนี้ไว้ให้ได้ดีและมากที่สุด นอกจากจะอนุรักษ์บ้านโบราณที่ตั้งอยู่ ณ ถิ่นดั้งเดิมแล้วก็ยังมีอีกหนึ่งในวิธีการสำคัญในการอนุรักษ์ที่น่าสนใจทีเดียว นั่นก็คือการเนรมิตหมู่บ้านโบราณขึ้นมาเพื่อรวบรวมและย้ายบ้านโบราณสไตล์โคมินกะรูปแบบต่างๆ จากทั่วญี่ปุ่นมาอยู่ในที่เดียวกัน นอกจากหมู่บ้านโบราณนี้จะกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่เปิดให้ผู้คนทั่วไปตลอดจนนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาชมได้แล้วสถานที่แห่งนี้ยังกลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญอีกด้วย จะมีแหล่งท่องเที่ยวชมบ้านสไตล์โคมินกะแหล่งไหนที่น่าสนใจกันบ้าง ตามไปดูกัน
Japan open-air folk house museum (川崎市立日本民家園)
พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งหมู่บ้านพื้นถิ่นญี่ปุ่นนี้ตั้งอยู่ในเมืองคาวาซากิ จ.คานากาวะ และไม่ไกลจากโตเกียวนัก เปิดให้เข้าชมครั้งแรกในปี ค.ศ.1967 ภายในรวบรวมบ้านโบราณจากทั่วญี่ปุ่นซึ่งเป็นหลังเก่าแก่ดั้งเดิมหลังจริงและเคยมีผู้อาศัยอยู่จริงย้ายมาปลูกใหม่รวมกันเพื่อจัดแสดงกว่า 20 หลัง โดยยังคงโครงสร้างตลอดจนรายละเอียดดั้งเดิมทั้งภายในและภายนอกเกือบทั้งหมดให้เหมือนกับบ้านหลังต้นฉบับในนอดีต
ภายในหมู่บ้านยังมีการจัดหมวดหมู่แบ่งตามภูมิภาคเพื่อให้เห็นอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่นอีกด้วย เวลาเดินเที่ยวชมจะรู้สึกเหมือนเดินเล่นในหมู่บ้านกันจริงๆ เพราะบ้านแต่ละหลังจะตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติและสร้างสภาพแวดล้อมเลียนแบบหมู่บ้านจริงให้มากที่สุด
+ ที่ตั้ง: 7-1-1 Masugata, Tama, Kawasaki, Kanagawa, Japan
+ ติดต่อ: 044-922-2181
+ เว็บไซต์: www.nihonminkaen.jp
+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/myXKERmJ3Emza2sn7
+++++++++++++++++++++++++++++
Open-Air Museum of Old Japanese Farm Houses (日本民家集落博物館)
พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งหมู่บ้านพื้นถิ่นโบราณของญี่ปุ่นนี้ถือเป็นไฮไลท์เด็ดของฝั่งคันไซ พื้นที่พิพิธภัณฑ์นั้นตั้งอยู่ในเขตสวนสาธารณะฮัตโตริ เรียวคุจิ (Hattori Ryokuchi Koen / 服部緑地公園) แถบชานเมืองโอซาก้า การอนุรักษ์ตลอดจนการจัดแสดงมีลักษณะเดียวกันกับพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งหมู่บ้านพื้นถิ่นญี่ปุ่นนี้ตั้งอยู่ในเมืองคาวาซากิ ทว่าจำนวนบ้านนั้นน้อยหลังกว่าแต่ก็มีถึง 12 หลังให้ชมกันเลยทีเดียว
นอกจากนี้ภายในบ้านบางหลังยังมีการจ้างผู้สูงอายุมาเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่เหมือนเจ้าของบ้าน โดยจะนั่งอยู่ประจำบ้าน สาธิตวิถีชีวิตในบ้าน รวมถึงนั่งพูดคุยถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์โดยตรงให้กับผู้มาเยือนอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย แล้วในฤดูใบไม้ผลิหมู่บ้านโบราณแห่งนี้ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในแหล่งชมซากุระที่สวยงามและขึ้นชื่อที่สุดแห่งหนึ่งของโอซาก้าอีกด้วย
+ ที่ตั้ง: 1-2 Hattoriryokuchi, Toyonaka, Osaka, Japan
+ ติดต่อ: 06-6862-3137
+ เว็บไซต์: www.occh.or.jp/minka
+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/2cBXHxdRFXQAyNJQA
+++++++++++++++++++++++++++
Saiko Iyashino-Sato Nenba (西湖いやしの里根場)
พิพิธภัณฑ์หมู่บ้านโบราณแห่งนี้นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแล้วก็ยังได้รับการยกย่องว่ามีวิวทิวทัศน์ที่งดงามที่สุดด้วยเพราะฉากหลังของหมู่บ้านแห่งนี้ก็คือวิวของภูเขาไฟฟูจินั่นเอง หมู่บ้านเน็นบะแห่งนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลสาบไซโกะ (Lake Saiko / 西湖) ในเขต จ.ยามานาชิ ซึ่งเมื่อก่อนเคยเป็นหมู่บ้านจริงๆ ในท้องถิ่นนี้ที่มีชุมชนบ้านเรือนรวมกันอยู่กว่า 40 หลังทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหมู่บ้านที่สวยที่สุดในญี่ปุ่นอีกด้วย ต่อมาในปี 1966 หมู่บ้านแห่งนี้ก็ถูกพายุไต้ฝุ่นถล่มจนพังราบคาบ จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 21 ได้มีแนวคิดในการบูรณะหมู่บ้านนี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้งเพื่อย้อนรำลึกถึงภูมิทัศน์อันงดงามอย่างในอดีต โดยสร้างบ้านแบบญี่ปุ่นโบราณขึ้นใหม่จำนวน 20 หลังที่อ้างอิงจากลักษณะบ้านดั้งเดิมในอดีตที่เคยสร้างบริเวณนี้ตลอดจนใช้กรรมวิธีและเทคนิคการก่อสร้างตามภูมิปัญญาดั้งเดิมแบบโบราณทั้งสิ้นเพื่อให้หมู่บ้านใกล้เคียงกับในอดีตให้มากที่สุดนั่นเอง
โดยหมูบ้านนี้สร้างแล้วเสร็จและเปิดให้ชมในปี 2006 จนกระทั่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตอย่างในปัจจุบัน ภายในบ้านแต่ละหลังนั้นมีทั้งหลังที่จัดแสดงวิถีดั้งเดิม ตลอดจนมีทั้งที่ปรับเปลี่ยนมาเป็นร้านค้ายุคใหม่ได้อย่างน่าสนใจ แต่อัตลักษณ์โดดเด่นที่สุดของหมู่บ้านโบราณนี้ก็คือลักษณะของหลังคาบ้านที่เรียกกันว่า “คาบุโตะซึกุริ (Kabuto Zukuri / 兜造り)” อันเป็นลักษณะหลังคาจั่วสามเหลี่ยมสไตล์หมวกซามูไรนั่นเอง
+ ที่ตั้ง: 1-2 2710 Saikonenba, Fujikawaguchiko-machi, Minamitsuru-gun, Yamanashi, Japan
+ ติดต่อ: 0555-20-4678
+ เว็บไซต์: https://saikoiyashinosatonenba.jp/
+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/Wb5j1Ume1fHK7SLAA
+++++++++++++++++++++++++++
Shirakawa-gō (白川郷)
นี่คือหมู่บ้านพื้นถิ่นสไตล์ญี่ปุ่นโบราณที่โด่งดังระดับโลกและมีผู้คนแวะมาเยือนมากที่สุดในญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ อันที่จริงแล้วบริเวณนี้มีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีอายุยาวนานนับหลายพันปีเลยทีเดียว แต่สำหรับชุมชนที่คาดว่าเป็นต้นกำเนิดของหมู่บ้านยุคปัจจุบันนี้อาจเริ่มต้นขึ้นราวช่วงศตวรรษที่ 8 (ค.ศ.701-800) เป็นต้นมา แหล่งประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่านี้ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก (UNESCO World Heritage Sites) ในปี ค.ศ.1995 โดยประกอบไปด้วยหมู่บ้านเก่าแก่ 3 หมู่บ้านรวมกันอยู่ท่ามกลางหุบเขาใน จ.กิฟุ และหมู่บ้านนี้ก็ยังคงเป็นสถานที่ที่มีคนอาศัยและใช้วิถีชีวิตอยู่จริงจนถึงปัจจุบัน รวมถึงร่วมมือกันอนุรักษ์มรดกทรงคุณค่านี้ไว้เป็นอย่างดี
ภายในหมู่บ้านนี้มีบ้านพื้นถิ่นญี่ปุ่นโบราณตั้งอยู่รวมกันนับร้อยหลัง มีอัตลักษณ์เด่นตรงการเป็นบ้านทรงหลังคาจั่วยกสูงที่เรียกว่า “กัชโชสึคุริ (Gassho-zukuri / 合掌造り)” หรือทรงพนมมือนั่นเอง นอกจากเราจะสามารถแวะไปท่องเที่ยวในหมู่บ้านได้แล้วหากใครอยากลองสัมผัสวิถีชาวบ้านให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นตลอดจนอยากมีประสบการณ์นอนในบ้านโบราณท้องถิ่นกันจริงๆ ที่นี่เขาก็มีที่พักตลอดจนโฮมเสตย์ไว้บริการกันด้วย
+ ที่ตั้ง: Ogimachi, Shirakawa, Ono, Gifu, Japan
+ ติดต่อ: +81-5769-6-1311
+ เว็บไซต์ทางการ (การท่องเที่ยว): https://www.vill.shirakawa.lg.jp/en/
+ เว็บไซต์ทางการ (ที่พัก): https://shirakawa-go.gr.jp/en/
+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/H1mio99oaazKyAfA6
ที่พักสไตล์โคมินกะ
หลังจากได้รู้จักกับบ้านสไตล์โคมินกะกันแล้วใครที่อยากมีประสบการณ์ลองแวะไปพักในที่พักสไตล์บ้านพื้นถิ่นญี่ปุ่นโบราณดูบ้างลองแวะไปหาข้อมูลได้ยังแพลตฟอร์มและเว็บไซต์เรานี้ที่เราหยิบมาแนะนำได้เลย
Airbnb > แพลตฟอร์มรวมแหล่งที่พักสไตล์โคมินกะไว้จำนวนมากซึ่งตอนนี้ที่พักรูปแบบนี้กำลังเป็นเทรนด์นิยมใน Airbnb เลยทีเดียว โดยเราสามารถหาที่พักได้หลากหลายระดับจากทั่วญี่ปุ่น ทั้งรูปแบบ Guesthouse, Boutique Hotel, ไปจนถึง Private House บ้านพักส่วนตัวที่ทรงคุณค่า
+++++++++++++++++++++++++++
Shirakawa-go Tourist Association > ถ้าใครอยากลองไปพักบ้านพื้นถิ่นญี่ปุ่นโบราณที่ชิราคาวาโกะดู แนะนำให้ลองเข้าไปหาข้อมูลได้ที่แพลตฟอร์มทางการขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวชิราคาวาโกะซึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลของบ้านแต่ละหลังไว้อย่างละเอียด (ทั้งข้อมูลและรูปภาพ) รวมถึงให้ลิงค์เชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ทางการของบ้านแต่ละหลังที่เปิดให้พักแล้ว เราก็ยังสามารถเลือกจองที่พักกับทางองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวนี้ได้โดยตรงด้วย
+ https://shirakawa-go.gr.jp/en/
+ https://www.vill.shirakawa.lg.jp/1415.htm
+++++++++++++++++++++++++++
Setouchi Cominca Stays > ใครที่หลงใหลเสน่ห์ของภูมิภาคเซโตะอุจิ (瀬戸内) และทะเลในเซโตะ (瀬戸内海 หรือ Seto Inland Sea) แล้วอยากลองพักผ่อนรวมถึงสัมผัสประสบการณ์ในชนบทญี่ปุ่นแถบนี้เราแนะนำให้ลองเข้าไปที่เว็บไซต์นี้ดูซึ่งเขาคัดสรรค์ที่พักสไตล์โคมินกะที่เป็นบ้านพื้นถิ่นเก่าแก่ดั้งเดิมนำมารีโนเวทใหม่ให้กลายเป็นที่พักระดับพรีเมี่ยมมีสไตล์ทว่ายังคงได้สัมผัสกลิ่นอายดั้งเดิมและเสน่ห์ของชนบทในมุมที่ไม่เหมือนใคร
+++++++++++++++++++++++++++
Kyoto Miyama > ส่วนใครที่หลงใหลในเสน่ห์ชนบทของเกียวโตลองเข้าไปในเว็บไซต์นี้ได้เลย ซึ่งที่นี่รวบรวมที่พักสไตล์โคมินกะตลอดจนข้อมูลท่องเที่ยวอื่นๆ ของเมืองมิยามะไว้ครบครัน ทั้งยังเป็นการจัดการดูแลขององค์กรท่องเที่ยวท้องถิ่นเมืองมิยามะ (Miyama Tourism Association) โดยตรงอีกด้วย
+++++++++++++++++++++++++++
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
https://www.toki.tokyo/other-cities/tamba-archi
https://en.wikipedia.org/wiki/Shoji
https://en.wikipedia.org/wiki/Minka#Typical_Edo_period_farmhouses
https://insideosaka.com/open-air-museum-of-old-japanese-farmhouses
https://www.japan.travel/en/spot/2031/
https://www.bunka.go.jp/english/policy/cultural_properties/index.html