dark mode light mode Search
Search

อิเคบานะ – ศิลปะการจัดดอกไม้บนวิถีแห่งธรรม

Japanese woman is aranging ikebana on the table.

จิตใจสงบสุขอาจเป็นดั่งสมบัติล้ำค่าในโลกที่แสนวุ่นวาย ใครจะคิดว่าแค่การจัดดอกไม้ก็สามารถนำเราไปพบกับสมบัติล้ำค่านั้นได้เช่นกัน การจัดดอกไม้ทั่วไปอาจสะท้อนเพียงความสวยงามทว่าการจัดดอกไม้สไตล์ญี่ปุ่นอาจสัมผัสได้ถึงมิติที่ลึกซึ้งกว่านั้น อิเคบานะเป็นวัฒนธรรมการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกในยุคนี้ วิถีไปจนถึงรูปแบบการจัดดอกไม้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและสามารถขับเน้นธรรมชาติให้งดงามเปล่งประกายยิ่งขึ้นดั่งงานศิลป์ระดับมาสเตอร์พีชที่มีชีวิตชีวา อีกด้านวิถีการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นนี้ยังเป็นเสมือนเครื่องมือช่วยขัดเกลาจิตใจไปพร้อมกัน และเป็นอีกวิธีที่สามารถโน้มนำเราสู่ความสงบภายในได้ดีทีเดียว

อิเคบานะ (Ikebana / 生け花) มาจากรากศัพท์ภาษาญี่ปุ่นคำว่า “อิเค (Ikeru / 生け)” ที่แปลว่าการจัดวางหรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือการมีชีวิตนั่นเอง ผสมกับคำว่า “บานะ หรือ ฮานะ (bana / 花)” ที่แปลว่าดอกไม้ เมื่อรวมกันจึงมีความหมายว่า “การจัดดอกไม้ให้มีชีวิต” (เหมือนดั่งที่มันอยู่ในธรรมชาติ) หรือเรียกให้สละสลวยขึ้นก็คือ “วิถีแห่งดอกไม้” นั่นเอง

บุปผาแห่งธรรม

Credit: オフィスエム

หากอยากทำความเข้าใจวิถีอิเคบานะอย่างลึกซึ้งแล้วอาจต้องเริ่มต้นด้วยการย้อนไปเรียนรู้รากเหง้าดั้งเดิมที่สืบทอดมายาวนานนับพันปี ประวัติศาสตร์ของวิถีอิเคบานะนั้นเริ่มต้นขึ้นราวช่วงยุคศตวรรษที่ 6 ซึ่งตรงกับยุคอาซุกะ (Asuka period; ค.ศ. 538–710) ช่วงเวลานั้นพุทธศาสนาเริ่มเผยแผ่เข้ามาในดินแดนญี่ปุ่นซึ่งเป็นการรับอิทธิพลมาจากทางฝั่งประเทศจีน หนึ่งในวัฒนธรรมที่รับเข้ามาพร้อมกันก็คือการจัดดอกไม้ถวายเป็นพุทธบูชาซึ่งวิถีเก่าแก่นี้สืบทอดมาตั้งแต่ต้นกำเนิดที่อินเดีย ตามปกติแล้วพุทธศาสนิกชนนิยมจะถวายดอกบัวเป็นหลักแต่ทางญี่ปุ่นนำมาประยุกต์ให้สอดคล้องกลมกลืนกับวิถีของตนด้วยการปรับเปลี่ยนไปถวายดอกไม้และพืชพรรณตามฤดูกาลทดแทน เช่นเดียวกับการนำเอาดอกไม้และต้นไม้ (นิยมต้นสนที่เขียวชอุ่มตลอดทั้งปี) ไปสัการะเทพเจ้าตามวิถีศาสนาชินโตนั่นเอง

Credit: City of Kyoto and Kyoto City Tourism Association

แรกเริ่มเดิมทีการจัดดอกไม้เป็นพุทธบูชานั้นไม่ได้มีรูปแบบตายตัวหรือมีความหมายใดเป็นพิเศษ แต่ในหลายศตวรรษต่อมาก็เริ่มมีการพัฒนาให้มีการจัดดอกไม้อย่างเป็นระบบระเบียบและประณีตขึ้นเรื่อย รวมถึงนิยามความหมายในเชิงธรรมให้กับรูปแบบการจัดดอกไม้เป็นพุทธบูชาด้วยเช่นกัน ทว่าช่วงเวลาที่วิถีอิเคบานะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนั้นก็ราวช่วงปลายศตวรรษที่ 14 ต้นยุคมุโรมาจิ (Muromachi Period; ค.ศ. 1336-1573) ซึ่งหลักฐานที่ใช้อ้างอิงก็คือบันทึก “คาโอะอิไรโนะคะเด็นโช (Kao Irai no Kadensho / 花王襲宿伝書)” อันเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่บ่งบอกถึงวิธีสอนการจัดดอกไม้รูปแบบต่างๆ โดยบันทึกนี้เป็นของนักบวช เซนเกะ อิเคโนโบะ (Senkei Ikenobo / 池坊専慶) เจ้าอาวาสแห่งวัดรกกะคุโดโด (Rokkakudo / 六角堂) ผู้เป็นเจ้าสำนักอิเคะโนบะและมีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องการจัดดอกไม้ในยุคนั้นนั่นเอง

Credit: (บน) Blue Signal (JR West) / (ล่าง) ResearchGate

การจัดดอกไม้วิถีอิเคบานะถูกพัฒนาควบคู่มากับศาสนาและความเชื่อของญี่ปุ่นเรื่อยมาทั้งพุทธ ชินโต ไปจนถึงเซ็น นอกจากเป็นเครื่องสักการะอิเคบานะยังกลายมาเป็นวิธีการฝึกตนและขัดเกลาจิตใจให้สงบบริสุทธิ์อีกด้วย การจัดดอกไม้อันประณีตนอกจากจะเป็นวิชาชีพชั้นสูงในยุคนั้นแล้วก็ยังเป็นสิ่งสะท้อนถึงปรัชญาแห่งธรรมที่แฝงไว้อยู่ในรูปแบบการจัดนั้นด้วย ก่อนที่ต่อมาจะเริ่มกลายมาเป็นวิถีนิยมในหมู่ชนชั้นสูงและเหล่าขุนนาง ตลอดจนถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือฝึกจิตให้บรรดาแม่ทัพและซามูไรสงบนิ่ง มีสมาธิ และแน่วแน่ในการออกรบอีกด้วย

Credit: (บนซ้าย) MUŻA – Malta’s National Community Art Museum / (บนขวา) Ikenobo / (ล่าง) Wikipedia

อิเคบานะเริ่มแพร่หลายมากขึ้นเมื่อวิถีนี้ส่งผ่านมายังชนชั้นพ่อค้า จนกระทั่งเริ่มกลายมาเป็นวิถีปกติของทุกชนชั้นในสังคมทุกวันนี้ ปัจจุบันอิเคบานะแตกแขนงออกไปมากมายทว่ากระบวนการในการจัดดอกไม้นั้นยังคงอยู่บนพื้นฐานรูปแบบเดียวกัน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับความงามของธรรมชาติและการใช้สมาธิในการจัดดอกไม้ที่ค่อยขัดเกลาจิตใจให้นิ่งสงบขึ้นเรื่อยตลอดจนโน้มนำผู้จัดสู่วิถีแห่งความสงบสุขในท้ายที่สุด

Credit: The New York Public Library

หลายคนมักตั้งคำถามว่าอิเคบานะนั้นเป็นวิถีแห่งศิลปะหรือว่าเป็นวิถีแห่งจิตวิญญาณกันแน่ แน่นอนว่าการจัดดอกไม้สไตล์ญี่ปุ่นดั้งเดิมนี้มีทั้งสองวิถีผสมผสานกันอยู่อย่างลงตัว

ตำนานที่งอกงามอย่างมีชีวิตชีวา

หากพูดถึงวิถีอิเคบานะอีกหนึ่งตำนานที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือเรื่องราวของสถาบันสอนจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นอันเก่าแก่ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ริเริ่มวางรากฐานวิถีอิเคบานะนั่นเอง อิเคโนโบะ (Ikenobo / 池坊) ถือเป็นสถาบันอิเคบานะที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น สืบทอดศาสตร์และศิลป์แห่งอิเคบานะมายาวนานกว่า 500 ปี และยังคงเปิดสอนต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน ประวัติของสถาบันแห่งนี้เริ่มต้นในยุคมุโรมาจิ (Muromachi; ค.ศ.1336-1573) ราวช่วงศตวรรษที่ 15 ด้วยการเป็นสำนักจัดดอกไม้ประจำวัดโชโฮจิ (Chohoji / 頂法寺) หรือที่เรียกกันแพร่หลายว่าวัดรกกะคุโด (Rokkakudo / 六角堂) ซึ่งมีที่มาจากแผ่นหินโบราณรูปหกเหลี่ยมที่อยู่มาตั้งแต่ยุคก่อตั้งวัดโน่นเลยทีเดียว

Credit: Leaf Kyoto

วัดแห่งนี้ก่อตั้งโดยเจ้าชายโชโตกุ (Prince Shotoku / 聖徳太子) สร้างขึ้นราวช่วงต้นยุคเฮอัน (Heian Period; ค.ศ. 794-1185) ก่อนที่จะกลายเป็นเมืองหลวงเกียวโตเสียด้วยซ้ำ ภายในวัดมีบ่ออาบน้ำ (ภาษาญี่ปุ่นคือ อิเคะ (Ike / 池坊)) สำหรับไว้ให้เจ้าชายได้ชำระล้างร่างกายอยู่ใกล้กับกุฏิหลังเล็ก (ภาษาญี่ปุ่นคือ โบ (Bo / 坊)) ที่เจ้าอาวาสอาศัยอยู่ สถานที่นี้จึงถูกเรียกว่า “อิเคะโนโบะ (Ikenobo / 池坊)” ที่แปลว่ากุฎิริมสระนั่นเอง คำนี้ยังกลายมาเป็นสมัญญานามแต่งตั้งให้กับเจ้าอาวาสวัดนี้ด้วย รวมถึงกุฎิหลังดังกล่าวก็กลายมาเป็นกุฏิประจำตำแหน่งเจ้าอาวาสไปในตัวเช่นกัน อย่างเช่น เซนเกะ อิเคโนโบะ (Senkei Ikenobo / 池坊専慶) เจ้าอาวาสผู้เป็นเจ้าสำนักจัดดอกไม้อันโด่งดังที่วางรากฐานให้ศาสตร์แห่งวิถีอิเคบานะนั่นเอง

Credit: (ซ้าย) Blue Signal (JR West) / (กลาง-ขวา) Ikenobo

สถาบันอิเคโนโบะ (Ikenobo / 池坊) ยังคงตั้งอยู่ ณ จุดกำเนิดในเขตนากาเงียว (Nakagyo / 中京区) ใจกลางเมืองเกียวโต อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่อันทันสมัยก็ยังตั้งตระหง่านเคียงคู่ติดกับกุฎิดั้งเดิม ทางสำนักยังคงสืบทอดหน้าที่เผยแพร่และถ่ายทอดความรู้วิถีอิเคบานะเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ มากมายที่ช่วยส่งเสริมให้วิถีอิเคบานะเติบโตงอกงามอย่างมีชีวิตชีวาตลอดไป

รูปแบบการจัดดอกไม้สไตล์อิเคบานะ (Styles of Ikebana)

การจัดดอกไม้แบบอิเคบานะนั้นพัฒนาแตกยอดออกไปเป็นรูปแบบต่างๆ มากมาย มาลองดูกันว่าการจัดดอกไม้สไตล์ญี่ปุ่นนั้นมีรูปแบบใดบ้าง

Credit: Sogetsu Foundation

ริกกะ (Rikka / 立花): คำนี้แปลว่า Standing Flowers หรือการจัดดอกไม้แนวตั้ง ซึ่งนี่ถือเป็นอิเคบานะรูปแบบดั้งเดิมที่เก่าแก่และเป็นทางการที่สุด การจัดดอกไม้สไตล์นี้มักอยู่บนพื้นฐานและหลักการที่มีระบบระเบียบค่อนข้างชัดเจน ตลอดจนแฝงความหมายเชิงหลักธรรมไปพร้อมกัน ริกกะมักจะประกอบขึ้นด้วยกิ่งก้านดอกไม้พืชพรรณ 7 หรือ 9 กิ่งเพื่อสื่อถึงธาตุทั้ง 7 หรือ 9 ที่หลอมรวมเป็นธรรมชาตินั่นเอง

โชกะ หรือ เซกะ (Shoka or Seika / 生花): คำนี้แปลว่า Pure Flowers หรือการนำเสนอความงดงามอันบริสุทธิ์และแท้จริงของหมู่มวลดอกไม้ รูปแบบนี้เกิดขึ้นในยุคเอโดะ (Edo Period; ค.ศ.1603-1868) โดยพัฒนามาจากจัดดอกไม้สไตล์ริกกะแต่ลดทอนรายละเอียดและความเป็นทางการลงให้ดูเรียบง่ายกว่า ทว่ายังคงยึดถือเรื่องสัดส่วนและกฎเช่นเดิม ใช้ดอกไม้และพรรณพืช 3 กิ่งเพื่อสื่อถึง สวรรค์-โลก(ธรรมชาติ)-มนุษย์ จัดตามหลักโครงสร้างรูปสามเหลี่ยม ขับเน้นเอกลักษณ์ของพืชแต่ละพันธุ์ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น ตลอดจนโชว์ความงดงามของเส้นสายที่ธรรมชาติรังสรรค์ขึ้นอย่างงดงาม

จิยูกะ (Jiyuka / 自由花): คำว่า “จิยู (Jiyu / 自由)” แปลว่า อิสระ การจัดดอกไม้ลักษณะนี้จึงหมายถึงรูปแบบฟรีสไตล์ (Free Style) ที่ดูร่วมสมัยและสร้างสรรค์ได้อย่างไม่จำกัด ภาชนะหรือแจกันเป็นได้หลากหลายรูปทรง ดีไซน์ล้ำสมัยได้เต็มที่ หรือกระทั่งประยุกต์วัสดุรูปแบบอื่นมาเป็นภาชนะก็ได้เช่นกัน ทว่ายังคงเน้นการนำเสนอความงดงามของธรรมชาติและสะท้อนถึงจิตวิญญาณอิเคบานะได้อย่างเด่นชัดเช่นเคย

นาเกะอิเระบานะ (Nageirebana / 投げ入れ) หรือ เฮกะ (Heika / 瓶花): คำนี้มีรากมาจากคำว่า “นาเกะอิเระ (Nageire / 抛入花)” ที่แปลว่า Thrown in หรือโยนใส่เข้าไป ทำให้การจัดดอกไม้รูปแบบนี้มีลักษณะเรียบง่ายคล้ายการจัดแจกันง่ายๆ แบบสไตล์ตะวันตก ไม่มีรูปแบบหรือโครงสร้างตายตัวแต่ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องสัดส่วนเพื่อทำให้เกิดโครงสร้างสามเหลี่ยมอย่างหลวมๆ รูปแบบนี้พัฒนามาจากสไตล์โชกะทว่าลดความเป็นทางการลง จัดแต่งให้สวยงามเป็นธรรมชาติและดูไม่พยายามจัดนักทว่ายังแฝงความงดงามในสไตล์อิเคบานะอยู่

โมริบานะ (Moribana / 盛花): คำนี้แปลตรงตัวได้ว่า Piled-up Flowers หรือกองดอกไม้ ซึ่งหมายถึงรูปแบบการจัดดอกไม้ในแนวระนาบที่มีลักษณะเป็นทรงพุ่มหรือเอนเอียงสู่แนวราบ รูปแบบนี้คล้ายกับสไตล์ริกะทว่าดูนุ่มนวลและรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวมากกว่า ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องกฎเกณ์และสัดส่วน หลักโครงสร้างสามเหลี่ยม ตลอดจนแฝงความหมายในการเป็นสัญลักษณ์ตัวแทน สวรรค์-โลก(ธรรมชาติ)-มนุษย์ การจัดดอกไม้จะเลือกใช้ภาชนะทรงเตี้ย ก้นตื้น ขอบต่ำ ปากกว้าง วางตัวแนวนอน บางทีอาจสื่อถึงการย่อส่วนสวนญี่ปุ่นและภูมิประเทศอันงดงามลงมาไว้ในนี้

Credit: ริกกะ (ทั้งหมด) Ikenobo / โชกะ (ทั้งหมด) Ikenobo / จิยูกะ (ซ้าย) Sogetsu Foundation, (กลาง-ขวา) Ikenobo / นาเกะอิเระบานะ (ซ้าย-กลาง) Fla-co, (ขวา) Sogetsu Foundation / โมริบานะ (ทั้งหมด) Ikebana Ohararyu

อุปกรณ์อิเคบานะ

สำหรับอุปกรณ์จำเป็นเบื้องต้นที่ควรจัดเตรียมนั้นประกอบไปด้วย 1.ดอกไม้ (พืชพรรณ) 2.แจกัน (ภาชนะ) 3.แป้นเข็มสำหรับจัดดอกไม้ (Kenzan / 剣山) 4.กรรไกรตัดกิ่ง ซึ่งหากมีอุปกรณ์เหล่านี้ก็สามารถเริ่มการจัดอิเคบานะได้

Credit: (บน) KONMARI MEDIA INC / (กลางซ้าย) Ikebana Ohararyu, (กลางขวา) オフィスエム / (ล่างซ้าย-กลาง) Web Japan, (ล่างขวา) ebay

หรืออาจจัดอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติม อาทิ ลวด, เชือก, ยาง, กระบอกฉีดน้ำ, อุปกรณ์ตกแต่งอื่นๆ ก็จะยิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดดอกไม้ได้มากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้อาจจัดหาตามความถนัดหรือเทคนิคการจัดของแต่ละคนได้เช่นกัน  

Credit: Culturally Ours

สัมผัสวิถีอิเคบานะและเรียนการจัดดอกไม้สไตล์ญี่ปุ่น

ปัจจุบันอิเคบานะเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลก และเป็นเสมือนซอฟท์พาวเวอร์สำคัญที่ทำให้หลายคนรักและหลงใหลในวัฒนธรรมตะวันออกจนทำให้อยากมาเยือนญี่ปุ่น หากอยากทำความรู้จักกับวิถีอิเคบานะให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น สถานที่แรกที่เราอยากแนะนำให้คุณลองเดินทางแวะไปสัมผัสก็คือจุดกำเนิดของวิถีแห่งดอกไม้ญี่ปุ่น

พิพิธภัณฑ์อิเคบานะ – Ikebana Museum (いけばな資料館)

credit: (ซ้าย, กลาง) あとり@hatenablog / (ขวา) Ikenobo

พิพิธภัณฑ์แห่งประวัติศาสตร์อิเคบานะแห่งนี้ตั้งอยู่ภายใน วัดโชโฮจิ (Chohoji / 頂法寺) หรือที่รู้จักกันว่าวัดรกกะคุโด (Rokkakudo / 六角堂) อันเป็นต้นกำเนิดของวิถีอิเคบานะ ภายในพิพิธภัณฑ์นี้จัดแสดงโบราณวัตถุตลอดจนเรื่องราวเกี่ยวกับอิเคบานะมากมาย

Credit: (บน) Ikenobo / (ล่าง) Kyoto Museum by Kyoto City Museum Facility Communication Council

นิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่ประวัติศาสตร์อิเคบานะ, แจกันไปจนถึงภาชนะโบราณที่เคยใช้จัดอิเคบานะ, อุปกรณ์ประกอบการจัดอิเคบานะในอดีตจนถึงปัจจุบัน, ไปจนถึงโบราณวัตถุอันทรงคุณค่าอย่างตำราต้นฉบับ 立花之次第九 (Rikka-no-shidai Kyujusanpei-ari) อันเป็นหนังสือวิธีสอนการจัดดอกไม้ของ เซนเกะ อิเคโนโบะ (Senkei Ikenobo / 池坊専慶) ที่ถือว่าเป็นตำราอิเคบานะเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น ทั้งยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นสำคัญของชาติ 重要文化財 (Important Cultural Property) ในปี ค.ศ.1973 ตลอดจนเป็นจุดกำเนินของศาสตร์อิเคบานะที่พัฒนามาจนถึงทุกวันนี้  

+ ที่ตั้ง: 3FL Ikenobo Building; 248, Donomae-cho, Rokkaku-dori Higashinotoin Nishi-iru, Nakagyo-ku, Kyoto, Japan

+ ติดต่อ: 81-75-221-2686

+ เว็บไซต์ (1): https://www.ikenobo.jp/rokkakudo/highlight/ikebana.html

+ เว็บไซต์ (2): https://www.kyoto-museums.jp/en/museum/central/3798/

+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/3UV1znUA6n6w9Fx36

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สำหรับใครที่อยากสัมผัสวิถีอิเคบานะเพิ่มมากถึง ยุคนี้เราสามารถพบเห็นการจัดดอกไม้รูปแบบนี้ตามสถานที่ทั่วไปต่างๆ ได้เช่นกัน ตั้งแต่ร้านอาหารไปจนถึงออฟฟิศต่างๆ ตลอดจนสามารถหาชมนิทรรศการอิเคบานะได้ไม่ยากนัก ทั้งจากตามสถาบันอิเคบานะต่างๆ อาร์ตแกลเลอรี่ พิพิธภัณฑ์ ไปจนถึงห้างสรรพสินค้าทั่วไป ในส่วนของการเรียนการสอนนั้นก็มีสถานบันและเวิร์กชอปเปิดขึ้นมากมายเช่นกัน หากมีโอกาสไปเยือนญี่ปุ่นแล้วอยากลองสัมผัสประสบการณ์อันทรงคุณค่าดูบ้างลองแวะไปยังสถานที่เหล่านี้กันดูได้

1.สถาบันอิเคโนโบะ (Ikenobo / 池坊) – เกียวโต

สถาบันอิเคบานะต้นตำรับที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น นำเสนอศาสตร์การจัดดอกไม้สไตล์ญี่ปุ่นดั้งเดิมไปจนถึงรูปแบบร่วมสมัย ที่สถาบันแห่งนี้จะมีการจัดนิทรรศการอิเคบานะอยู่เสมอตลอดจนมีส่วนร่วมสนับสนุนการจัดนิทรรศการอิเคบานะทั่วญี่ปุ่นและในต่างประเทศด้วย รวมถึงเปิดสอนให้ความรู้เช่นกัน

+ ที่ตั้ง: 248, Donomae-cho, Rokkaku-dori Higashinotoin Nishi-iru, Nakagyo-ku, Kyoto, Japan

+ ติดต่อ: 81-75-231-4922

+ เว็บไซต์: https://www.ikenobo.jp/english/

+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/of4Xwte55LU4wJ8w5

+++++++++++++++

2.สถาบันโซเก็ตซึ (Sogetsu / 草月) – โตเกียว, เกียวโต

สถาบันอิเคบานะยุคใหม่ที่โด่งดังระดับโลก ก่อตั้งในปี ค.ศ.1927 โดย โซฟุ เทชิกะฮาระ (Sofu Teshigahara / 勅使河原 蒼風) จากปณิธานที่ว่าอยากสร้างสถาบันอิเคบานะสมัยใหม่ที่หลุดพ้นจากกรอบขนบเดิม นั่นจึงทำให้สไตล์การจัดดอกไม้ที่โดดเด่นของที่นี่คือการสร้างสรรค์และทดลองสิ่งใหม่อยู่เสมอ เป็นอิเคบานะที่ดูทันสมัยแต่ยังคงจิตวิญญาณญี่ปุ่นไว้เต็มเปี่ยม สำนักงานใหญ่นั้นอยู่แถบอาคาซากะ เขตมินาโตะ กรุงโตเกียว และมีสาขาย่อยตั้งอยู่ที่เมืองเกียวโตด้วย นอกจากจะเปิดคอร์สสอนการจัดดอกไม้แล้วที่นี่ยังมีแกลเลอรี่แสดงนิทรรศการอิเคบานะอันโด่งดังด้วย ซึ่งงานโดดเด่นจะเน้นอิเคบานะสไตล์ร่วมสมัยที่สร้างสรรค์งดงามอลังการ รวมถึงร่วมสนับสนุนจัดนิทรรศการอิเคบานะไปทั่วโลกอีกด้วย

Sogetsu Kaikan (Tokyo)

+ ที่ตั้ง: 2-21, Akasaka 7-chome, Minato-ku, Tokyo, Japan

+ ติดต่อ: 81-3-3408-1154

+ เว็บไซต์: https://www.sogetsu.or.jp/

+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/EE1aGLThe1zBPnSx8

Sogetsu WEST (Kyoto)

+ ที่ตั้ง: Hotel Emion KYOTO (1F), 20-4 Sujakudounokuchi-cho, Shimogyo-ku, Kyoto, Kyoto, Japan

+ ติดต่อ: west@sogetsu.or.jp

+ เว็บไซต์: https://www.sogetsu.or.jp/

+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/uME5qGkkzzaMWun96

+++++++++++++++

3.สถาบันโอฮาระแห่งอิเคบานะ (Ikebana Ohararyu / いけばな小原流) – โตเกียว

อีกหนึ่งสถาบันอิเคบานะยุคใหม่อันโด่งดังที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงยุคเมจิ (Meiji Period; ค.ศ.1868-1912) ก่อตั้งโดย Unshin Ohara (小原 雲心) ที่ว่ากันว่าเป็นต้นตำรับผู้คิดค้นวิธีการจัดดอกไม้สไตล์โมริบานะ (Moribana / 盛花) ขึ้นมา ฉะนั้นเอกลักษณ์หลักของที่นี่จึงเป็นการจัดดอกไม้ในแนวระนาบ สถาบันแห่งนี้เปิดสอนการจัดดอกไม้มาช้านานและสืบต่อในตระกูลมากว่าร้อยปีแล้ว ทั้งยังเป็นหนึ่งในสถาบันอิเคบานะแถวหน้าที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่นด้วย

+ ที่ตั้ง: 5 Chome-7-17 Minamiaoyama, Minato City, Tokyo, Japan

+ ติดต่อ: 03-3499-1200

+ เว็บไซต์: https://www.ohararyu.or.jp/

+ แผนที่: https://maps.app.goo.gl/Ymy3EZ7rb3Csp2HEA

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

Ikenobo: https://www.ikenobo.jp/english/

Buddha Nature: https://shorturl.at/pdpBy

Britannica: https://www.britannica.com/art/Ikenobo

Britannica: https://www.britannica.com/art/floral-decoration/Eastern#ref599800

Sogetsu: https://www.sogetsu.or.jp/e/columns/19842/

Wikepedia: https://en.wikisource.org/wiki/Japanese_flower_arrangement/Chapter_1

Guidable: https://guidable.co/th/culture-th/ikebana-bringing-flowers-to-life-through-japanese-flower-arrangement/

Matichon Book – สำนักพิมพ์มติชน: https://www.facebook.com/photo.php?fbid=2767947236603276&id=119067444824615&set=a.134217036642989

วิชรสิทธา: https://vajrasiddha.com/articles-is-ikebaba-spirituality-or-art/

ศิลปวัฒนธรรม: https://www.silpa-mag.com/culture/article_55006 

การท่องเที่ยวญี่ปุ่น – Visit Japan (JNTO): https://www.facebook.com/photo.php?fbid=3520192648004791&id=147618875262202&set=a.149202548437168

JNTO: https://www.japan.travel/en/au/story/art-ikebana/

Total
0
Shares