dark mode light mode Search
Search

เปิดลิสต์ 8 เทศกาลสุดแปลกตา ที่ต้องมาลองให้ได้สักครั้งในญี่ปุ่น!

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,000 ปี และเราก็สามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์เหล่านั้นได้ผ่านเทศกาลอันหลากหลายที่สืบทอดมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคโบราณมาจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นสัญลักษณ์และวัฒนธรรมประจำชาติของญี่ปุ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทุกเทศกาลล้วนมีความหมายและเต็มไปด้วยวิถีชีวิตอันลึกซึ้ง ลองมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต ผ่านเทศกาลสุดแปลกตาของชาวญี่ปุ่นกัน!

Kan
ชอบการเข้าร่วมเทศกาลท้องถิ่นของญี่ปุ่นที่มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ.1600 และด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีส่วนร่วมกับเทศกาลท้องถิ่นประจำปีในญี่ปุ่นอยู่เสมอ ทำให้รู้สึกหลงใหลในเสน่ห์ของเทศกาลญี่ปุ่นที่มีความหลากหลาย และอาจดูแปลกตาสำหรับคนต่างชาติ จึงอยากถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นในมุมมองคนญี่ปุ่นให้คนไทยได้สัมผัสและเข้าใจมากยิ่งขึ้น

รู้หรือไม่! ญี่ปุ่นมีเทศกาลมากถึง 300,000 เทศกาล

ญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่ามีเทศกาลที่หลากหลาย และจัดขึ้นในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเทศกาลใหญ่หรือเล็ก รวมๆ แล้วก็มีจำนวนมากถึง 300,000 เทศกาลต่อปีเลยทีเดียว มีตั้งแต่เทศกาลที่จัดขึ้นที่ศาลเจ้าหรือวัดเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ไปจนถึงเทศกาลที่เฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวพืชผล หรือการบูชาเทพเจ้าผู้ปกป้องรักษาท้องถิ่น เบื้องหลังของเทศกาลเหล่านี้คือวัฒนธรรมที่หลากหลายโดยได้รับการสืบทอดมาจากอดีตอันยาวนานของแต่ละพื้นที่ในญี่ปุ่นนั่นเอง

ทำความรู้จักต้นกำเนิดเทศกาลญี่ปุ่นกันสักนิด

ต้นกำเนิดของเทศกาลในญี่ปุ่นนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ถูกบันทึกในหนังสือโคจิกิ (古事記) เมื่อปี ค.ศ. 712 ซึ่งเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น สำหรับบันทึกเรื่องราวตำนานและเทพนิยาย รวมถึงเรื่องราวของจักรพรรดิยุคแรกๆ นอกจากนี้ในยุคเอโดะ (ค.ศ. 1603 – 1868) ก็ถือว่าเป็นยุคเริ่มต้นของเทศกาลอันสวยงามและเป็นที่รู้จักมาจนถึงปัจจุบัน อย่างเช่น เทศกาลฟุกางาวะ ฮัตซึทาน และเทศกาลคันดะ ด้วยเทศกาลที่มีมากมาย และส่วนใหญ่ก็เป็นเทศกาลที่ยังคงสืบทอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เทศกาลในญี่ปุ่นจึงได้ชื่อว่าเป็น “ประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต” และมีชีวิตที่อายุยืนมาถึง 1,000 ปีเลยทีเดียว

มุมมองคนญี่ปุ่นต่อเทศกาลท้องถิ่น

สำหรับชาวญี่ปุ่น เทศกาลไม่ใช่แค่เป็นโอกาสในการแสดงความขอบคุณต่อธรรมชาติ หรือแสดงความเคารพต่อเทพเจ้าเท่านั้น แต่ยังถือเป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนท้องถิ่น และเชื่อมโยงกับค่านิยมของคนญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยโบราณอีกด้วย เทศกาลจึงเป็นเสมือนสิ่งที่เชื่อมผู้คนในสังคม ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ได้มาแบ่งปันความสุขและ “สนุกสนานไปกับเทศกาลร่วมกัน” นั่นคือความหมายของการมีงานเทศกาลที่จัดขึ้นทุกปีในญี่ปุ่นนั่นเอง

ชวนดู จุดเด่นของเทศกาลในญี่ปุ่น

ลักษณะเด่นของเทศกาลในญี่ปุ่นคือความหลากหลายและความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่เทศกาลที่เต็มไปด้วยความกล้าหาญที่คนจะยก “มิโกชิ (Mikoshi)” หรือ “ดาชิ (Dashi)” ไปจนถึงเทศกาลที่มีการแสดงเต้นรำและดนตรีที่เน้นความสนุกสนาน เพราะฉะนั้นตลอดทั้งปีในญี่ปุ่น ผู้คนสามารถเข้าร่วมเทศกาลได้อย่างไม่จำเจ แต่ละพื้นที่ก็จะมีเทศกาลและเรื่องราวที่แตกต่างกันไป

มิโกชิคืออะไร?

มิโกชิ (Mikoshi) คือยานพาหนะที่เทพเจ้าใช้สำหรับการเดินทางรอบๆ พื้นที่ในช่วงเทศกาล โดยจะมีผู้ที่สวมชุดเทศกาล เรียกว่า “ฮันเทน (Hanten)” ทำหน้าที่ยกมิโกชิขึ้นบ่าพร้อมกับเดินรอบพื้นที่ใกล้เคียงศาลเจ้า

ดาชิคืออะไร?

ดาชิ (Dashi) หรือ ไทโกะได (Taikodai) เป็นยานพาหนะที่เทพเจ้าใช้เช่นเดียวกับมิโกชิ แต่จะมีความหนักกว่า บางเทศกาลต้องยกดาชิทั้งวัน แต่บางเทศกาลก็มีการติดล้อให้คนลากเพื่อทุ่นแรง ดาชิส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับศาสนาชินโตหรือพุทธศาสนา

8 เทศกาลสุดแปลกตาในญี่ปุ่น

เทศกาลกอง (เกียวโต) : 祇園祭(京都)

จัดขึ้นในเดือนกรกฎาคมของทุกปี และเป็นเทศกาลที่ขึ้นชื่อของเกียวโต ไฮไลท์สำคัญของเทศกาลนี้อยู่ที่การเดินขบวนของ “ยามาโบะโกะ” อันงดงามหรูหรา โดยจะมีการแห่ขบวนไปรอบเมือง ให้ความรู้สึกของบรรยากาศมืองเก่า เสียงดนตรีและเสียงเรียกของชาวเมือง สะท้อนถึงวัฒนธรรมดั้งเดิม เทศกาลนี้เป็นที่รู้จักในฐานะภาพลักษณ์ของฤดูร้อนในเกียวโต

เทศกาลเท็นจิน (โอซาก้า) : 天神祭(大阪)

เทศกาลฤดูร้อนที่จัดขึ้นในเดือนกรกฎาคมของทุกปีในโอซาก้า เทศกาลนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,000 ปี จุดเด่นคือการล่องเรือบนแม่น้ำและการแสดงดอกไม้ไฟอันสวยงามด้วยมิโกชิบนแม่น้ำโอกาวะ โดยมีฉากหลังเป็นทิวทัศน์ของโอซาก้า ทุกคนที่มาโอซาก้าต้องมีโอกาสได้มาเยี่ยมชมเทศกาลนี้ดูสักครั้ง ถือเป็นเทศกาลขึ้นชื่อดึงดูดนัดท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

เทศกาลเนบูตะ (อาโอโมริ): 青森ねぶた祭(青森)

จัดขึ้นในเดือนสิงหาคมของทุกปี เทศกาลนี้มีจุดเด่นคือตุ๊กตาโคมไฟขนาดใหญ่ ให้บรรยากาศที่คึกคักในฤดูร้อนของอาโอโมริ การออกแบบเนบูตะที่ยิ่งใหญ่และการเต้นรำอันทรงพลังของขบวนแห่ถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่ควรมาชมในอาโอมาริ

เทศกาลคันโต (อาคิตะ): 秋田竿燈祭り(秋田)

จัดขึ้นทุกเดือนสิงหาคมของทุกปี เทศกาลนี้มีจุดเด่นคือการควบคุมโคมไฟบนเสาไม้ไผ่โดยใช้ทักษะของการควบคุมคันโตที่ใช้โคมไฟติดอยู่บนเสาไม้ไผ่ เทศกาลนี้ถือเป็นไฮไลท์ของฤดูร้อนในอาคิตะที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

เทศกาลฮากาตะดนตาคุ (ฟุกุโอกะ): 博多どんたく(福岡)

จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมของทุกปี เทศกาลนี้มีประวัติยาวนานกว่า 840 ปี โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1179 เป็นต้นมา สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่มีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศมาเยี่ยมชมจำนวนมาก โดยจะมีการจัดแสดงยามากาสะ เต้นรำ เดินขบวนพาเหรดต่าง ๆ ที่เต็มไปด้วยความคึกคักสนุกสนาน

เทศกาลอะวะโอโดริ (โทคุชิมะ): 阿波踊り(徳島)

จัดขึ้นในเดือนสิงหาคมของทุกปี เทศกาลนี้มีจุดเด่นอยู่ที่จังหวะการเต้นรำและการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วสนุกสนานของนักเต้น ถือเป็นอีหนึ่งไฮไลท์ของเทศกาลหน้าร้อนในโทคุชิมะ โดยกลุ่มนักเต้นแต่ละกลุ่มจะแสดงการเต้นรำที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง

เทศกาลคันดะ (โตเกียว): 神田祭(東京)

เทศกาลนี้ถือเป็นหนึ่งในสามเทศกาลที่ใหญ่ที่สุดของโตเกียว โดยจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมของทุกปี จุดเด่นของเทศกาลนี้คือการเดินขบวนของมิโกชิ ที่มีประวัติยาวนานกว่า 1,280 ปี นับตั้งแต่การก่อตั้งศาลเจ้าคันดะเมียวจินในปี ค.ศ. 730 ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นหลังจากที่รัฐบาลโตกุงาวะก่อตั้งเมืองเอโดะในปี ค.ศ. 1603 ทำให้เทศกาลนี้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อันยาวนานและเป็นเทศกาลที่สำคัญของโตเกียว

เทศกาลดันจิริ (คิชิวาดะ, โอซาก้า): 岸和田だんじり祭(大阪)

จัดขึ้นในเดือนกันยายนของทุกปี เทศกาลนี้มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 300 ปี เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางยุคเอโดะเป็นต้นมา จุดเด่นของเทศกาลนี้คือการลากดันจิริอย่างทรงพลังและรวดเร็ว ถือเป็นเทศกาลที่สร้างความคึกคักในฤดูใบไม้ร่วงของโอซาก้า และเป็นการแสดงความกล้าหาญที่ทำให้ผู้ชมทึ่งในพลังและความมุ่งมั่นอีกด้วย

ข้อควรระวังในการเข้าร่วมเทศกาลญี่ปุ่น

หากสนใจเข้าร่วมเทศกาลในญี่ปุ่น มีข้อควรระวังที่ควรปฏิบัติตาม อย่างแรกคือการเคารพกฎและมารยาทของเทศกาล เช่น ในเทศกาลที่จัดขึ้นที่ศาลเจ้าหรือวัด ควรแสดงออกอย่างสุภาพหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพในสถานที่ที่ห้ามถ่าย และควรเคารพในความเชื่อและวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น ระมัดระวังไม่เข้าไปพัวพันกับขบวนแห่ เช่น มิโกชิ

ปัญหาของเทศกาลญี่ปุ่นในปัจจุบัน

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับปัญหาการลดลงของประชากรอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่อันห่างไกลอย่างชนบท คาดว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า ภายในปี 2050 จำนวนประชากรคนรุ่นใหม่จะลดลงอีก เหลือครึ่งหนึ่งใน 744 เทศบาล ซึ่งคิดเป็น 40% ของทั้งหมด เทศบาลเหล่านี้ก็อาจต้องเผชิญกับการลดลงของประชากรอย่างรวดเร็วส่งผลให้บางเทศกาลสูญหายไปได้

เพราะฉะนั้นการสืบทอดเทศกาลในพื้นที่ชนบทจึงกลายเป็นปัญหาสำคัญหนึ่งในปัจจุบัน อย่างเช่น เทศกาล “โซมินไซ” ที่จัดขึ้นมาเป็นเวลากว่า 1,000 ปีที่วัดคุโรอิชิในจังหวัดอิวาเตะ ตอนนี้ก็ได้ถูกยุติลงแล้วในปี 2024

(Image:https://kokusekiji.jp/%E8%98%87%E6%B0%91%E7%A5%AD/

เพราะเทศกาลเปรียบเสมือนเอกลักษณ์และเป็นสิ่งที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของพื้นที่ต่างๆ ในญี่ปุ่นตั้งแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบัน อาจเป็นเรื่องน่าเสียดายหากบางเทศกาลสูญหายไปเนื่องจากหลากหลายปัจจัย หากมีโอกาสขอแนะนำให้ไปเที่ยวชมเทศกาลท้องถิ่นต่างๆ ในญี่ปุ่น นอกจากได้ร่วมสนุก ได้เรียนรู้ความหมายอันลึกซึ้งของวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่นแล้ว ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของการสืบทอดเทศกาลท้องถิ่นเหล่านี้ให้ยังคงมีอยู่ต่อไปอีกเรื่อยๆ ด้วยนั่นเอง

Total
0
Shares